ชุมชนแม่ทอมเที่ยวที่นี่เสริฟปิ่นโตร้อยสายจากครัวบ้านๆ
วันจันทร์ ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2568
การดู : 57
แชร์ :
โครงการ “วัฒนธรรมสร้างสุข ท่องเที่ยวปลอดภัย” ต.แม่ทอม อ.บางกล่ำ จ.สงขลา มีเรื่องราวการท่องเที่ยววัฒนธรรมที่มีความเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร
หนึ่งในสิ่งที่โดดเด่นที่สุดในชุมชนแห่งนี้คือ "ปิ่นโตร้อยสาย" กลายเป็นสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวบ้านด้วยการรับประทานอาหารพื้นถิ่นภาคใต้ ที่จัดเตรียมอย่างพิถีพิถัน อาหารแต่ละเมนูพื้นบ้านยังสะท้อนถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิถีชีวิตที่ยั่งยืนของชุมชนย่านนี้ โดยทุกเมนูปรุงรสจากแม่ครัวของแต่ละบ้านในชุมชน ล้วนประกอบด้วยวัตถุดิบคุณภาพจากชุมชน ไม่ว่าจะเป็นผักสวนเกษตรอินทรีย์ภายในครัวเรือน ปลาจากทะเลสาบสงขลา หรือ ตลาดนัด 100 ปี วัดคูเต่า ศูนย์รวมวัตถุดิบจากลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา
นางเตือนจิต ศรีสวัสดิ์ หรือ "พี่เตือน" อาสาสมัครวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ต.แม่ทอม อ.บางกล่ำ จ.สงขลา เล่าถึงที่มาของ “ปิ่นโตร้อยสาย” ว่า เกิดขึ้นเพราะการจัดประชุมในชุมชน ไม่มีงบประมาณค่าเดินทางและค่าอาหาร จึงให้ทุกคนในชุมชนทำอาหารใส่ปิ่นโตมาเพื่อรับประทานกันหลังการประชุม หลังจากนั้น เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ของเรา จึงให้นำอาหารท้องถิ่น อาหารพื้นบ้าน ที่เราทำกินกันทุกวันในครัวเรือนมาเสิร์ฟให้กับนักท่องเที่ยว แบบปิ่นโต
คำว่า ร้อยสาย เกิดจากกลุ่มชาวประมงภาคใต้ จัดกิจกรรมปล่อยกุ้ง ในพื้นที่ของเรา นายชาญวิทูร สุขสว่างไกร ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เสนอให้ชุมชนจัดปิ่นโตไปเสิร์ฟให้กับคณะ คราวนั้นมากันกว่า 150 คน จึงเป็นที่มาของ “ปิ่นโตร้อยสาย” นับแต่นั้น
“มาเยี่ยมบ้านเรา ก็ต้องกินข้าว กินอาหารบ้านเรา เป็นข้อตกลงของผมเลยนะว่า หากมาท่องเที่ยวในชุมชนเราแล้ว ต้องกินข้าวบ้านผม อาหาร ขนม เบรก ก็ต้องเป็นของที่ทำมาจากชุมชน มาจากฝีมือชาวบ้าน ทุกอย่างผมเน้นเป็นฝีมือของคนในชุมชน” นายชาญวิทูร กล่าวเสริม
พี่เตือน เล่าต่อว่า เมนูอาหารในปิ่นโต ไม่ได้กำหนดต้องเป็นอะไร ขึ้นกับแต่ละบ้าน วันนั้น ๆ ทำอะไรกิน เมื่อต้องส่งปิ่นโต ก็จะเพิ่มปริมาณและแบ่งเสิร์ฟใส่มาในปิ่นโตเท่านั้น นักท่องเที่ยวจะได้รับประทานอาหารพื้นบ้านเช่นเดียวกับเรา โดยจะเน้นเรื่องสุขภาพ อาหารต้องไม่เค็ม
ปิ่นโตหนึ่งสายประกอบไปด้วย ข้าว 1 อย่าง กับข้าว 2 อย่าง ขนมหรือผลไม้ 1 อย่าง เมื่อรวมกันจึงมีความหลากหลาย ผ่านการคัดคุณภาพทั้งรสชาติและความสะอาด จากพี่เตือนทุกครั้ง อาหารที่เสิร์ฟในปิ่นโตร้อยสายมีทั้งข้าวสังข์หยด พร้อมกับอาหารท้องถิ่นหลายชนิด เช่น แกงส้มปลาหัวโม่งเขาคัน, ต้มตรุบปลา, ยำสมุนไพร และผักบุ้งผัดกะปิ (เคย) โดยทุกรายการล้วนใช้วัตถุดิบจากพื้นที่ในชุมชน ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายองค์กรงดเหล้าฯ (สคล.) ที่ชวนชาวบ้านปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษ และส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกผักอินทรีย์กินใช้เอง หรือ ใช้ปลา ซึ่งมาจาก ทะเลสาบสงขลา (ดินแดนปลาสามน้ำ) หรือแม้กระทั่งตลาดนัดร้อยปีวัดคูเต่า ศูนย์รวมวัตถุดิบแห่งลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา วัตถุดิบในท้องถิ่น ไม่เพียงช่วยส่งเสริมสุขภาพชุมชน แต่ยังเป็นเครื่องมือที่สร้างความยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจของชุมชนผ่านการท่องเที่ยวอีกด้วย
“ปิ่นโตร้อยสาย” ไม่เพียงเป็นการให้บริการอาหารที่อร่อยและดีต่อสุขภาพ แต่ยังช่วยสร้างรายได้ ให้ชาวบ้านในท้องถิ่น ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน นอกจากการผลิตเสิร์ฟอาหารปิ่นโตแล้ว ยังนำผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากผลผลิตท้องถิ่น เช่น ขนมทองม้วน, ขนมผิง และข้าวหลามแม่ทอม เป็นสินค้าโอทอปที่ได้รับการยอมรับในระดับจังหวัด รายได้ที่เกิดขึ้นมาจากการท่องเที่ยวจะถูกกระจายไปยังผู้คนในชุมชน เช่น เกษตรกรที่ปลูกผักอินทรีย์ หรือผู้ทำขนมพื้นบ้าน ซึ่งช่วยยกระดับเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
แนวคิดของโครงการ “วัฒนธรรมสร้างสุข ท่องเที่ยวปลอดภัย” เป็นงานเสริมพลังและยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชนสู่ธุรกิจชุมชนปลอดภัยลดปัจจัยเสี่ยงจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอบายมุข ในพื้นที่ต.แม่ทอม ไม่ได้จำกัดแค่การเสิร์ฟอาหารเท่านั้น แต่ยังเป็นการเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน กฎกติกาในการอยู่ร่วมกันโดยเป็นชุมชนที่ปราศจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาเสพติด ตลอดจนอบายมุข เน้นการเรียนรู้ เกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์จากชุมชนมาประยุกต์ใช้ เช่น การ Workshop วิธีทำขนมทองม้วนที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน การท่องเที่ยวที่นี่จึงไม่ใช่แค่มาพักผ่อน แต่เป็นการสัมผัสกับวิถีชีวิตจริงของคนในชุมชน ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักท่องเที่ยวและชุมชนอย่างแท้จริง
"ปิ่นโตร้อยสาย" จึงเป็นอาหารที่ไม่เพียงเป็นตัวแทนของความอร่อยจากท้องถิ่น แต่เป็นเครื่องมือช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน สร้างความยั่งยืนให้กับท้องถิ่น ผ่านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทำให้ชุมชนได้แสดงออกถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นทุกขั้นตอนการผลิตจนถึงการบริการอาหารแก่ผู้มาเยือน
ข่าวอัพเดท

เจาะลึกเทคโนฯนวัตกรรม ววน. รับภัยพิบัติในอนาคต
วันอังคาร ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2568

วิจัยพบกรุงเทพฯอยู่ในวงล้อม3แหล่งแผ่นดินไหว
วันอาทิตย์ ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2568

ชี้3จุดสังเกตตึกถล่มเผชิญคลื่นแผ่นดินไหวดันดินอ่อน
วันเสาร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2568

2 ช่องทางขอตรวจอาคารแผ่นดินไหว กทม. – กรมโยธา
วันศุกร์ ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568

นายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยฯ ร่วมยินดี 61 ปีเดลินิวส์
วันศุกร์ ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568

เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนามาตรวิทยารังสีเพื่อความปลอดภัย
วันพฤหัส ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2568
