ประปาหมู่บ้านได้มาตรฐานแค่34%นาโนเทคเปิดคลินิกรักษา
วันศุกร์ ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2567
การดู : 68
แชร์ :
นาโนเทค (สวทช.) ส่ง ‘คลินิกคุณภาพน้ำ’ ขนเทคโนโลยีเซนเซอร์ และการปรับปรุงคุณภาพน้ำ ตรวจวัดคุณภาพ รักษาน้ำให้เหมาะกับการอุปโภคบริโภค เปิดรับผู้สนใจนำความรู้ ขยายผลใช้ประโยชน์ทั่วประเทศ หลังทราบข้อมูลกรมอนามัยประปาหมู่บ้านมาตรฐานมีเพียง34%
ดร. ณัฏฐพร พิมพะ หัวหน้าทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ข้อมูลจากกรมอนามัยระบุว่าน้ำประปาหมู่บ้านที่ได้มาตรฐาน ผ่านเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้มีเพียง 34.4% สวทช. จึงร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ องค์การส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และมหาวิทยาลัยต่างๆ จัดทำคลินิกคุณภาพน้ำเพื่อการตรวจและรักษา
ในการตรวจ นาโนเทค สวทช. ดร. วีรกัญญา มณีประกรณ์ หัวหน้าทีมวิจัยวัสดุตอบสนองระดับนาโน พัฒนาเซนเซอร์ตรวจวัดสิ่งปนเปื้อนในน้ำ ทั้งไอออนโลหะ โลหะหนักและอโลหะ สารกำจัดศัตรูพืช โดยเซนเซอร์ที่พัฒนานั้น แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ เซนเซอร์เชิงแสงสำหรับตรวจวัดโลหะและโลหะหนัก ประกอบด้วย ชุดทดสอบไอออนของปรอท แมงกานิสและทองแดง ในน้ำ เป็นชุดทดสอบแบบง่ายและรวดเร็ว พกพาใช้งานภาคสนามได้ และ เซนเซอร์เคมีไฟฟ้าสำหรับตรวจวัดโลหะและโลหะหนัก ตรวจหาไอออนของแคดเมียม ตะกั่ว ทองแดง และปรอทในน้ำได้พร้อมกัน อาศัยเทคนิคเคมีไฟฟ้าวัดสัญญาณเคมีไฟฟ้า ใช้ร่วมกับเครื่องวัดแบบพกพา ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค ช่วยพัฒนาอุปกรณ์เสริม ‘DuoEye Reader’ ประมวลผลปริมาณโลหะปนเปื้อนในน้ำชนิดแจ้งผลการตรวจได้ทันที จัดเก็บข้อมูลเข้าระบบคลาวด์ (Cloud) แบบอัตโนมัติ ช่วยลดภาระงานแก่เจ้าหน้าที่ภาคสนาม และติดตามการปนเปื้อนของโลหะด้วยตนเอง
ส่วนการบำบัดรักษา ดร.ณัฏฐพร กล่าวว่า นาโนเทค ได้ทำแนวทางการปรับปรุงระบบประปาผิวดิน โดยวิจัยและพัฒนาเครื่องมือประเมินสารช่วยตกตะกอนและแอปพลิเคชันบอกปริมาณสารช่วยตกตะกอน อุปกรณ์วัดความขุ่นแบบท่อชนิดแผ่นสังเกตเคลื่อนที่ และ อุปกรณ์ช่วยตกตะกอนชนิดกวนด้วยแม่เหล็กแบบสองความเร็ว สำหรับประเมินปริมาณสารสร้างตะกอน, ระบบควบคุมการจ่ายสารช่วยตกตะกอน/สารฆ่าเชื้อ, อุปกรณ์ดักตะกอนที่มีขนาดเล็ก และระบบ IoT สำหรับ automatic control และ online monitoring ระบบผลิตน้ำดื่มจากน้ำบาดาล รวมระบบผลิตน้ำดื่ม 120-250 L/h, ระบบตกตะกอนและกรอง, เมมเบรน เซรามิกนาโนคอมพอสิต และระบบ IoT สำหรับ automatic control และ online monitoring เทคโนโลยีดังกล่าวได้นำร่องประยุกต์ใช้ในพื้นที่ จ.ลำปางและ จ.ขอนแก่น ช่วยให้ราษฎร 1,500 ครัวเรือนเข้าถึงน้ำสะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน
ดร. ณัฏฐพร กล่าวด้วยว่า นาโนเทคกำลังเสาะหาผู้สนใจนำต้นแบบเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ รวมถึงผู้ร่วมวิจัยเพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนเอกชนที่จะร่วมผลักดันไปสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป
รายงานแจ้งว่า 80%ของน้ำเพื่อการอุปโภคในประเทศไทย ให้บริการโดยหมู่บ้านและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (น้ำประปาหมู่บ้าน) อีก17% ให้บริการโดย การประปาส่วนภูมิภาค และการประปานครหลวง
ข่าวอัพเดท