คืนชีวิตให้(คนทำ)“กะปิ” เกาะลิบง

วันอังคาร ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

การดู : 18

คืนชีวิตให้(คนทำ)“กะปิ” เกาะลิบง

แชร์ :

ชุมชนเกาะลิบง จ.ตรัง มีเอกลักษณ์วัฒนธรรม วิถีชีวิต และทรัพยากรธรรมชาติที่ส่งเสริมเศรษฐกิจจากการประมงและการท่องเที่ยว มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล

คนที่ไปเที่ยวชมเกาะลิบง คงคุ้นตากับร้านขายกะปิ แต่ร้านค้าเหล่านี้ไม่ได้ผลิตกะปิด้วยตนเอง มักจะรับมาจากผู้ผลิตบนฝั่งนำมาขายให้นักท่องเที่ยว ส่วนหนึ่งเพราะวิถีภูมิปัญญาการทำกะปิกุ้งเคยของชาวเกาะลิบงที่สืบทอดจากคนรุ่นก่อนกำลังเลือนหายไป ชุมชนมองไม่เห็นโอกาสว่าการทำกะปิจะสร้างรายได้ที่ยั่งยืน เลี้ยงปากท้องของครอบครัวให้มั่นคงได้อย่างไร

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง จึงนำกระบวนการวิจัยเข้าสู่แวดวงคนทำกะปิกุ้งเคยเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาดังกล่าว โดยมี ดร.อนันตนิจ ชุมศรี เป็นหัวหน้าโครงการ “การสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์กะปิจากกุ้งเคยด้วยการยกระดับมาตรฐานการผลิตของผู้ประกอบการสู่การเป็นผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ของจังหวัดตรัง” ร่วมกับกรอบการวิจัย “การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Enterprises) บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่” หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 

ดร.อนันตนิจ กล่าวว่าการผลิตกะปิกุ้งเคยในจ.ตรังมีสัดส่วนน้อยลง ยากกว่านั้นคือการหากะปิกุ้งเคยแท้ที่มีคุณภาพ รสชาติดี และปลอดภัย จึงใช้เรื่องของการ ‘ยกระดับห่วงโซ่คุณค่า’ มาจัดการงานวิจัย โดยเชื่อมโยงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ตั้งแต่ ‘คนจับกุ้งเคย’ หรือกลุ่มชาวประมง ‘ผู้รวบรวมวัตถุดิบ’ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้รับซื้อและเตรียมกุ้งเคย ‘ผู้แปรรูปกะปิ’ และ ‘ผู้ขาย’ รวมทั้งหมด 11 กลุ่ม จากบริเวณชายฝั่งโดยรอบเกาะลิบงให้มาเจอกัน

ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนคือ ‘วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยว และพัฒนาอาชีพเกาะลิบง’ พัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวในเกาะลิบง ที่แปรรูปกะปิกุ้งเคยด้วยตนเอง จำหน่ายเอง โดยเป็นผลจากการที่ทีมวิจัยลงพื้นที่เข้าไปส่งเสริมและพัฒนาให้ชุมชนเห็นความสำคัญของการสร้างมูลค่าเพิ่มจากทุนภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกครั้ง จึงเป็นพื้นที่สำคัญในการเคลื่อนงานวิจัย โดยมี น.ส.รมิดา สารสิทธิ์ หรือจ๊ะเซาะ ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ เสาหลักของการเคลื่อนงานในพื้นที่ผ่านบทบาทของ “นวัตกรชุมชน” ซึ่งน.ส.รมิดา กล่าวว่า งานวิจัยนี้ไม่เพียงคืนชีวิตให้กะปิเกาะลิบง แต่คืนชีวิตให้กับครอบครัวตนเอง และสมาชิกวิสาหกิจชุมชนฯ อีกหลายครอบครัวให้ลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง เพราะคนบนเกาะลิบงนั้นส่วนใหญ่ผู้ชายจะทำประมง ส่วนผู้หญิงบ้างก็ขับรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างรับนักท่องเที่ยว แต่ส่วนใหญ่ผู้หญิงจะไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้

งานวิจัยนี้ให้จุดเปลี่ยนสำคัญ พลิกชีวิตพวกเราด้วยหลักคิดในการจัดการเงินสำหรับส่วนธุรกิจและส่วนครัวเรือน และสำคัญที่สุดคือการจุดประกายให้ชุมชนเห็นคุณค่าและเห็นช่องทางเพิ่มมูลค่าให้กับ ‘กะปิกุ้งเคย’ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่อยู่ในวิถีชีวิตเรามายาวนาน”

           น.ส.รมิดา กล่าวอีกว่า กะปิน้ำเช้า-กะปิน้ำค่ำ เป็นภูมิปัญญาคู่ชุมชนเกาะลิบงที่มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ผ่านมาเราละเลย แม้จะทำอยู่บ้าง ก็ทำไปตามความรู้สึก บ้างก็รับจากฝั่งมาขายเพียงกิโลกรัมละ 120 บาท ได้กำไรกระปุกละ 10-20 บาทเท่านั้น แต่วันนี้เราสามารถขายกะปิกิโลกรัมละ 400 บาท หรือบางออร์เดอร์เราขายได้ในราคาสูงกว่านั้น จากการเชื่อมโยงเครือข่ายกับแพรับซื้อกุ้งเคยในพื้นที่บ้านเกาะเคี่ยม อ.กันตัง หนึ่งในห่วงโซ่คุณค่าของงานวิจัยนี้ ตลอดปีที่ผ่านมาวิสาหกิจชุมชนฯ แปรรูปกะปิได้มากถึง 2 ตัน เกิดรายได้หมุนเวียนเดือนละประมาณ 50,000 บาท ยังต่อยอดการแปรรูปไปยังผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ใช้กะปิเป็นวัตถุดิบเป็นส่วนผสมได้อีกมากมาย ที่สำคัญรายได้ยังหมุนเวียนไปสู่สมาชิกวิสาหกิจชุมชนฯ ที่มาร่วมผลิตกะปิอย่างสม่ำเสมอด้วย ชวนลูกหลานมาทำค่าจ้างละ 100 - 300 บาทต่อคน   กะปิเป็นสินค้าที่ขายไม่ง่าย จึงหาวิธีให้ลูกค้าได้ชิมกะปิกุ้งเคยของเรา แปรรูปเป็นน้ำปลาหวาน มันกุ้ง หรือทำเมนูอาหารอื่น ๆ ให้ลูกค้าได้ชิมและซื้อกลับไป มีนักท่องเที่ยวต่างชาติสนใจวิถีชีวิตชุมชน จึงเตรียมต่อยอดไปเป็นคอร์สประสบการณ์ได้ทดลองทำอาหารที่มีกะปิเป็นส่วนผสม เป็นอีกช่องทางสร้างรายได้

ดร.อนันตนิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ การส่งต่อโอกาสและสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเปราะบาง หรือครอบครัวยากจนในพื้นที่ของห่วงโซ่คุณค่าผ่านการจ้างงาน มีสัดส่วนการสร้างงานในพื้นที่เพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ ชาวประมงหรือคนจับกุ้งเคย ล้างให้สะอาดมากขึ้น แพรับบ้านเกาะเคี่ยมจะให้ราคาเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 10 บาท จากนั้นผู้รวบรวมจะนำกุ้งเคยมาจัดเตรียมตามออร์เดอร์จากผู้แปรรูปหรือผู้ประกอบการกลุ่มต่าง ๆ อีกที เนื่องจากผู้ประกอบการแต่ละเจ้าก็จะมีสูตรเฉพาะในการทำกะปิของตัวเอง ดังนั้นความต้องการกุ้งเคย เทคนิค กระบวนการหมักก็อาจจะมีสัดส่วนที่ต่างกันไป แต่ก็จะใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยนี้เป็นหลักสำคัญ 

การทำงานวิจัยกรอบ Local Enterprises กับ บพท. ทำให้รู้ว่า ความสำเร็จของงาน LE มาจากความเชื่อมั่นในตัวนักวิจัย ในกระบวนการพัฒนาคุณภาพกะปิกุ้งเคย จึงเน้นการเปิดใจ เปิดมุมมองให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เปลี่ยนความคิด ให้เข้าใจว่าของดี ๆ นั้นมีผลต่อการตัดสินใจของคนซื้อหรือลูกค้ามากเพียงใด ซึ่งตรงนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เขาพร้อมก้าวไปข้างหน้ากับเราเสมอ ส่วนเป้าหมายต่อไปของวิสาหกิจชุมชนฯ เกาะลิบง เราต้องหนุนเสริมให้เขาก้าวไปสู่การขอรับมาตรฐานฮาลาลและ อย. ให้ได้ และยกระดับคุณภาพต่อไปอย่างเป็นลำดับในอนาคต” ดร.อนันตนิจ กล่าว 

 

 

ข่าวอัพเดท

เดินหน้าแก้ท่วม-แล้งระดับพื้นที่-เชียงใหม่ เชียงรายพัฒนาระบบทำนาย

เดินหน้าแก้ท่วม-แล้งระดับพื้นที่-เชียงใหม่ เชียงรายพัฒนาระบบทำนาย

วันพุธ ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

คืนชีวิตให้(คนทำ)“กะปิ” เกาะลิบง

คืนชีวิตให้(คนทำ)“กะปิ” เกาะลิบง

วันอังคาร ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

ปส.ร่วม IAEAวางยุทธศาสตร์ชาติจัดการกากกัมมันตรังสี

ปส.ร่วม IAEAวางยุทธศาสตร์ชาติจัดการกากกัมมันตรังสี

วันอังคาร ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

รณรงค์ลดก๊าซเรือนกระจกงานแข่งกีฬา

รณรงค์ลดก๊าซเรือนกระจกงานแข่งกีฬา

วันจันทร์ ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

ฟู้ดแบงก์สู่ปทุมธานี ตลาดสี่มุมเมือง เซียร์ ฟิวเจอร์พาร์ค ตลาดไท สนับสนุน

ฟู้ดแบงก์สู่ปทุมธานี ตลาดสี่มุมเมือง เซียร์ ฟิวเจอร์พาร์ค ตลาดไท สนับสนุน

วันอาทิตย์ ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

รอฟังเหล่ากูรูกระตุก GDP ไทยด้วยทุน ววน.

รอฟังเหล่ากูรูกระตุก GDP ไทยด้วยทุน ววน.

วันอาทิตย์ ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

สมาคมนักข่าวฯ คว้าอันดับ 2 แข่งบาสฯ ชิงถ้วยนายกสภาทนายความครั้งที่ 1

สมาคมนักข่าวฯ คว้าอันดับ 2 แข่งบาสฯ ชิงถ้วยนายกสภาทนายความครั้งที่ 1

วันอาทิตย์ ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

ข่าวที่เกี่ยวข้อง