4หน่วยทุนวิจัยยกทีมเชื่อมสัมพันธ์สายวิทย์นวัตกรรมอเมริกา
วันพฤหัส ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2567
การดู : 187
แชร์ :
สกสว.นำ4หน่วยบริหารทุนวิจัย แพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญ รพ.ดังลัดฟ้าสร้างสัมพันธ์งานวิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม อเมริกา หวังหาสูตรมาพัฒนา ววน.ของไทย
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผอ. สกสว.พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สกสว. ผู้บริหารหน่วยบริหารและจัดการทุน 3 แห่ง ได้แก่ ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ผู้แทนจาก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และคณะที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญการแพทย์เฉพาะทางจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางเข้าร่วมหารือความร่วมมือประเด็นมุ่งเน้นสำคัญ (Flagships) ของประเทศไทยกับหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัย และหน่วยงานของประเทศสหรัฐอเมริกาที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านการพัฒนากำลังคน การแพทย์และสาธารณสุขให้มากยิ่งขึ้น ต่อยอดความร่วมมือเดิม ริเริ่มความร่วมมือใหม่พัฒนาระบบ ววน.ของประเทศ
รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผอ. สกสว. กล่าวว่าได้เข้าพบ 6 หน่วยงานหลักที่มีพันธกิจในเรื่องการแพทย์ สาธารณสุข ได้แก่ United States Agency for International Development (USAID) เพื่อแนะนำระบบ ววน. ของไทย ความท้าทายทางสาธารณสุขของไทยและภูมิภาคอาเซียน ทั้งเรื่อง PM 2.5 การตายด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนน โรควัณโรคและมาลาเรีย ผู้แทน USAID ได้ชื่นชมระบบบริการสาธารณสุขของไทยที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพร้อมเรียนรู้เพิ่มเติมจากไทย โดย USAID ยินดีให้ความร่วมมือกับไทยในแนวทางที่ทั้งสองฝ่ายเห็นควร
คณะยังได้พบผู้เชี่ยวชาญระดับ Program Directors ของหน่วยงานภายใต้ National Institute of Health (NIH) ได้แก่ Fogarty International Center (FIC), National Human Genome Research Institute (NHGRI) และ National Institute of Neurological Disease and Stroke (NINDS) หารือถึงโอกาสความร่วมมือการวิจัยและการแลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านการแพทย์ เช่น โรคพาร์กินสัน โรคหลอดเลือดสมอง และรวมถึงความร่วมมือกับโครงการ Accelerating Medicines Partnership Program (AMP) ได้หารือถึงทุนวิจัยของ NIH และการสร้างศักยภาพและการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงทุนวิจัยดังกล่าวของนักวิจัยไทย รวมถึงเข้าหารือกับ Biomedical Advanced Research and Development Authority (BARDA) และ Advanced Research Projects Agency for Health (ARPA-H) หน่วยงานวิจัยด้านการแพทย์ภายใต้กระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา (Department of Health and Human Services, HHS) เพื่อทำความเข้าใจระบบการวิจัยภายใต้กระทรวงสาธารณสุขอเมริกา การออกนโยบาย มาตรการ การเตรียมความพร้อมในช่วงมีภาวะวิกฤตและฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ได้เรียนรู้กลไกการผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่ภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรม
รศ. ดร.ปัทมาวดี กล่าวด้วยว่า เป็นโอกาสสำคัญในการแนะนำระบบ ววน. ของประเทศ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานของสหรัฐอเมริกากว่า 10 หน่วยงาน ทั้งด้านระบบการทำงานเชิงวิชาการ การวิจัยและนวัตกรรม การผลักดันงานวิจัยไปสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพ เตรียมความพร้อมให้มีคุณภาพความทัดเทียมกับนานาชาติ ตลอดจนการวางแนวทางและแผนการพัฒนากำลังคนด้าน ววน. ของประเทศไทยให้มีศักยภาพสูง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบันและเชื่อมโยงกับงานที่ระบบ ววน. ของประเทศไทยดำเนินการมาแล้วอย่างต่อเนื่อง
คณะผู้เดินทางมีโอกาสเข้าพบ ดร.ซูดิป พาริค CEO ของ American Association for the Advancement of Science (AAAS) องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ส่งเสริมการใช้ ววน. ในภาคนโยบายของประเทศ โดยคัดเลือกและพัฒนาบุคลากร ววน. ที่มีความสามารถโดดเด่น เพื่อส่งเข้าไปเป็นที่ปรึกษาในหน่วยงานของรัฐ กระทรวงต่างๆ รวมถึงทั้งฝ่ายบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติของประเทศสหรัฐฯ โดยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาและส่งเสริมบุคลากร ววน. และได้เรียนรู้ระบบและกระบวนการของโครงการ AAAS Fellowship และโอกาสในการเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาระบบการพัฒนาบุคลากร ววน. และการใช้ ววน. ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายและการบริหารประเทศของไทย โดยในปีนี้ ประเทศไทยจะมีความร่วมมือกับ AAAS ภายใต้โครงการนำร่องเพื่อจัดอบรมปฏิบัติการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การทูต ซึ่งวางแผนจะจัดขึ้นร่วมกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ที่กรุงเทพมหานคร กลางเดือนสิงหาคมนี้
นอกเหนือจากด้านการพัฒนากำลังคน คณะผู้เดินทางได้เข้าเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของ World Bank (WB) และหารือแนวทางในการสนับสนุน SMEs ทั้งด้านการเงิน การตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและส่งผลกระทบต่อ SMEs และการวางแผนการทำงานร่วมกันระหว่าง สกสว. และ WB ภายใต้โครงการ Policy Effectiveness Review of Science, Technology and Innovation in Thailand ระยะที่ 2 ด้วย
ข่าวอัพเดท