2 กระทรวง อว.-อุตสาหกรรม ร่วมพัฒนารถอีวีดันเป็นฮับเอเชียแปซิฟิก

วันพฤหัส ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2567

การดู : 83

2 กระทรวง อว.-อุตสาหกรรม ร่วมพัฒนารถอีวีดันเป็นฮับเอเชียแปซิฟิก

แชร์ :

เดินหน้าจริงจังยกระดับมาตรฐานรถอีวี กระทรวง อว. กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือระดมความเชี่ยวชาญสวทช.- สมอ. วิเคราะห์ทดสอบยานยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ดันไทยเป็น EV Hub ใหญ่สุดในเอเชียแปซิฟิก

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.67 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม (อก.) น.ส.หวัง ซือ ซือ เลขานุการ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน แสดงความยินดี ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการพัฒนายกระดับมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า ระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ด้านการวิเคราะห์ทดสอบยานยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ของศูนย์ความเป็นเลิศด้านยานยนต์ไฟฟ้าประเทศไทย (Thailand EV Center of Excellence: TECE) ระหว่าง สวทช. กับ China Automotive Engineering Research Institute (สถาบันวิจัยวิศวกรรมยานยนต์แห่งประเทศจีน) (CAERI) ที่อาคารพระจอมเกล้า กระทรวง อว. ถ.พระรามที่ 6 กรุงเทพฯ

สวทช.สนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์มากว่า 20 ปี จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านยานยนต์ไฟฟ้าประเทศไทย Thailand EV Center of Excellence หรือ TECE เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของภาคอุตสาหกรรม เป็นหนึ่งในนโนบายของกระทรวง อว. เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ซึ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมอีวีตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็น EV Hub ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกน.ส.ศุภมาส กล่าว

น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี

 

          น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า กระทรวง อก. มีความยินดีร่วมมือกับกระทรวง อว.ทุกด้านเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของไทย สู่ความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนตามนโยบายของรัฐบาล ดิฉันเชื่อว่าศักยภาพของ สมอ. ซึ่งบูรณาการความร่วมมือกับ สวทช. ประกอบกับศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดผลสำเร็จได้ ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ดึงดูดนักลงทุนรายใหม่ให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศ สร้างความยั่งยืนให้กับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ สามารถรักษาความเป็นผู้นำด้านยานยนต์อันดับ 1 ในอาเซียน และ 1 ใน 10 ของโลก รวมทั้งสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการลดก๊าซเรือนกระจก และก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 ด้วย

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

 

         ศ.ดร.ชูกิจ กล่าวว่า ความร่วมมือของทุกภาคส่วนครั้งนี้ เป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานพาหนะไฟฟ้าของไทยด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในประเทศและสร้างความสามารถทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน ศูนย์ TECE มีพันธกิจ 4 ข้อ ได้แก่ 1.การพัฒนางานวิจัยชิ้นส่วนยานพาหนะไฟฟ้า และอุปกรณ์ความปลอดภัยในการใช้รถและถนน 2.พัฒนากำลังคนเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานพาหนะไฟฟ้าในประเทศ 3.เชื่อมโยงเครือข่ายการให้บริการวิเคราะห์และทดสอบยานพาหนะไฟฟ้าและชิ้นส่วนร่วมกับพันธมิตรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ 4.บริการให้คำปรึกษาและจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคเพื่อการออกแบบ และพัฒนาชิ้นส่วนยานพาหนะไฟฟ้าให้แก่ผู้ประกอบการไทย

ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์

 

          TECE ยังได้รับความร่วมมือจาก Chairman and Party Secretary of China Automotive Engineering Research Institute (CAERI) หน่วยงานด้านการวิเคราะห์ทดสอบยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศจีน เพื่อสนับสนุนศูนย์ TECE ในเรื่องเทคโนโลยีการวิเคราะห์ทดสอบยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนาในอนาคต

         นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า สมอ.ในฐานะสถาบันการมาตรฐานแห่งชาติ ได้กำหนดมาตรฐานเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว 159 มาตรฐาน รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ที่จ.ฉะเชิงเทรา เป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานโลกแห่งแรกในอาเซียน รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก พร้อมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2569

ข่าวที่เกี่ยวข้อง