แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนได้ก้าวใหม่ของรถอีวีไทย

วันเสาร์ ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

การดู : 98

แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนได้ก้าวใหม่ของรถอีวีไทย

แชร์ :

นับหนึ่งระบบแบตเตอรี่สับเปลี่ยนสำหรับรถไฟฟ้าขนาดเล็ก สมาคมเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานขยายเครือข่ายพันธมิตรรัฐ เอกชน กระทรวงอุตสาหกรรม อว.ร่วมกันพัฒนาสร้างมาตรฐาน 

นายศุภชัย ใจสมุทร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการเปิดตัวภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก โดยสมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย และเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐและเอกชน ในงาน International Energy Storage Forum 2024 - TESTA Annual Symposium ครั้งที่ 4 ที่ห้องประชุม MR 111 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ มีเป้าหมายเพื่อลดข้อจำกัดของการใช้งานแบตเตอรี่ในประเทศไทย ครอบคลุมประเด็นด้านราคา ความปลอดภัย และคุณภาพ ผ่านการพัฒนามาตรฐานกลางในด้านขนาด ระบบไฟฟ้า การเชื่อมต่อ การสื่อสาร เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยสู่มาตรฐานสากล

แบตแบบสับเปลี่ยนได้ สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

 

นายศุภชัย ระบุว่าภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก เริ่มจากโครงการนำร่องของหน่วยงานในกระทรวง อว. คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัทเอกชน ได้แก่ บริษัท เบต้า เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด บริษัท จีพี มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ไอ-มอเตอร์แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด บริษัท กริดวิซ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ยูเนี่ยนนิฟโก้ จำกัด ขยายผลเป็นภาคีเครือข่ายระดับประเทศ ความร่วมมือดังกล่าวจะผลักดันให้ประเทศ ก้าวไปสู่ความยั่งยืนทางด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนคนไทย

การเปลี่ยนแบต มอเตอไซค์ไฟฟ้า

         นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่ากระทรวงอุตสาหกรรม มีบทบาทขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ ด้วยกลไกของ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และ สถาบันยานยนต์ ขับเคลื่อนภารกิจอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า ในภารกิจการจัดทำมาตรฐานรองรับการตรวจสอบ ด้านความปลอดภัย มาตรฐานระบบขับเคลื่อน ระบบการประจุไฟฟ้า มาตรฐานแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและจักรยานยนต์ไฟฟ้า มาตรฐานระบบการสื่อสารระหว่างยานยนต์ไฟฟ้ากับโครงข่ายไฟฟ้า มาตรฐานระบบเบรกของจักรยานยนต์ไฟฟ้า มาตรฐานชิ้นส่วนสำหรับดัดแปลงรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า มีการบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้วและกำจัดซากแบตเตอรี่รถยนต์อย่างเหมาะสม การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC)  ตลอดจนการพัฒนาทักษะแรงงานเฉพาะทางผ่านหลักสูตรฝึกอบรม การศึกษา และการพัฒนาทักษะเฉพาะทาง พัฒนาระบบรับรองความสามารถบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต

ตู้สับเปลี่ยนแบตแบบรวดเร็วสำหรับมอเตอไซค์ไฟฟ้า

 

ผลของการพัฒนา ส่งผลให้มีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีตัวเลือกที่หลากหลายและราคาที่แข่งขันได้  ประเทศมีศักยภาพสูงในการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่  มีจำนวนสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ลดความกังวลเรื่องระยะทางและกระตุ้นการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า 

         ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล ประธานภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก เปิดเผยว่าการจัดตั้งภาคี ที่ได้ริเริ่มมาจากความต้องการลดข้อจำกัดในการเปลี่ยนผ่านมอเตอร์ไซค์เครื่องยนต์สันดาปเป็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า  เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในกระทรวง อว. และหน่วยงานภาคเอกชนทั้ง 9 หน่วยงาน ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ปี 2564 โครงการนี้เสร็จสิ้นสำเร็จไปเมื่อต้นปีนี้ ผลลัพธ์ที่ได้คือ ข้อกำหนดของคุณลักษณะมาตรฐานสำหรับแพ็กแบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนได้สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า พร้อมต้นแบบทดสอบ ที่ผ่านการหารือร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกว่าสองร้อยราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง