เปิดเว็บคลังความรู้อนุรักษ์พันธุกรรมพืช

วันอังคาร ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2567

การดู : 595

เปิดเว็บคลังความรู้อนุรักษ์พันธุกรรมพืช

แชร์ :

เปิดตัว rspg.nrct.go.th คลังความรู้การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ คณะบริหาร นักวิจัย วช.สวมเสื้อม่วง ลงนามถวายพระพร และปลูกต้นมหาพรหมสิรินธร เฉลิม พระเกียรติ

          เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 69 พรรษา 2 เมษายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดพิธีถวายพระพรชัยมงคลและลงนามถวายพระพรผ่านระบบออนไลน์ ที่สำนักงาน วช.เมื่อวันที่ 1เม.ย.67

         วาระเดียวกัน ได้ร่วมกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) แถลงข่าวเปิดตัวเว็บไซต์ rspg.nrct.go.th โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.วช. เป็นประธานกล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.-วช.) ได้ร่วมสนองพระราชดำริ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 30 ปี ได้สนับสนุนเชิงวิชาการ ทำเอกสารเผยแพร่มากกว่า 20 ฉบับ ให้ทุนวิจัย เพื่อการศึกษาด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชมากกว่า 300 โครงการ จัดนิทรรศการวิชาการ และประชุมวิชาการเป็นประจำทุกปี  ในปี พ.ศ. 2567 วช. ได้จัดทำเว็บไซต์ อพ.สธ.-วช. (rspg.nrct.go.th) เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 69 พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นการสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช การให้ความรู้ด้านวิชาการ สร้างฐานข้อมูลพืชอนุรักษ์  สนับสนุนโครงการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของ อพ.สธ.-วช. ด้วย

         ในกิจกรรมดังกล่าว นายวรรณศักดิ์ รุ่งโรจน์วณิชย์ ผู้ตรวจสอบทางวิชาการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นางสาวรัชนีเพ็ญ  เพ็ญสิทธิ์ ผอ.ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย ผู้แทนจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท หัวหน้าโครงการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ คณะผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ วช. สวมใส่เสื้อสีม่วงโดยพร้อมเพรียงและปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติ ณ ศูนย์เกษตรวิถีเมือง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดยต้นไม้ที่ปลูกครั้งนี้คือ ต้นมหาพรหมสิรินธร ได้รับการสนับสนุนจาก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เป็นหนึ่งในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช เพื่อสนองพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.-วช.)  โดยมีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรพันธุกรรมพืชให้เกิดประโยชน์กับมหาชนชาวไทย

       มหาพรหมสิรินธร เป็นหนึ่งในสามของพรรณไม้ค้นพบใหม่ ชื่อพฤกษศาสตร์ Mitrephora sirindhorniae Chalermglin, Leerat. & R. M. K. Saunders สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ขยายพันธุ์โดยวิธีไม่ใช้เพศจากต้นเดิม (from cultivated material) ในจังหวัดบึงกาฬ ลักษณะเป็นไม้ต้นขนาดเล็กสูง 4 เมตร กิ่งมีขนหนาแน่น ไม่มีตุ่มใบ (domatia) เส้นแขนงใบบรรจบกับเส้นกลางใบ ช่อดอกมีดอกย่อยจำนวน 1-3 ดอก ดอกเป็นกลุ่มมีดอกขนาดใหญ่ มีกลีบเลี้ยงสีน้ำตาล กลีบดอกชั้นนอกสีเหลืองแกมเขียวหรือสีเหลือง รูปหอกกลับ ยาว 4-6 เซนติเมตร ขอบกลีบหยักเป็นคลื่น กลีบดอกชั้นในสีเหลืองพบมีแต้มสีชมพูบริเวณปลายกลีบ มีผลย่อยจำนวน 7-14 ผล รูปรีจนถึงรูปไข่กลับ ผิวเรียบ มีขนหนาแน่น มีร่องตามยาวชัดเจน ผลสุกสีเหลือง มีก้านผลย่อยค่อนข้างสั้น ยาว 2.5-8 มม. <https://www.sci.psu.ac.th/news/2023/01/sci-researcher-discovered-3-new-plants/>

         มหาพรหมสิรินธร ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของพรรณไม้ดังกล่าวว่า “Mitrephora sirindhorniae” เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565

         การค้นพรรณไม้ดังกล่าว เป็นผลงานร่วมของนักวิจัย 3 ท่าน คือ 1.รศ.ดร.จรัล ลีรติวงศ์ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 2.ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น อดีตผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) 3.Professor Dr. R.M.K. Saunders สาขานิเวศวิทยาและความหลากหลายทางชีวภาพ มหาวิทยาลัยฮ่องกง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง