เปิดธนาคารอาหารช่วยคนจนลดส่วนเกินปีละ4ล้านตัน

วันพุธ ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

การดู : 138

เปิดธนาคารอาหารช่วยคนจนลดส่วนเกินปีละ4ล้านตัน

แชร์ :

สวทช.เปิดตัวธนาคารอาหารของไทย ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลจับคู่ความต้องการ แจงผลิตอาหารส่วนเกินปีละ4ล้านตัน ขณะที่กลุ่มมีรายน้อย เข้าไม่ถึงอาหาร 3.8 ล้านคน SOS บอกบอกแจกส่วนเกินไปแล้ว 35 ล้านมื้อ ลดคาร์บอนได้กว่า 2 หมื่นตัน

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ มูลนิธิ SOS โดยการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เปิดตัวโครงการจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank): การบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน คำตอบในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เมื่อวันที่ 15 พ.ค.67 ที่โรงเรียนคลองทรงกระเทียม เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ

ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่าการเปิดตัวธนาคารอาหารของประเทศไทยครั้งนี้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องอาหารส่วนเกิน การกอบกู้อาหาร การส่งต่ออาหารส่วนเกิน ส่งเสริมการลดขยะอาหาร สร้างความมั่นคงทางอาหาร คาดหวังให้เป็นแบบจำลองการส่งต่ออาหารส่วนเกินให้สังคมไทย โดยการศึกษาพบว่า ประเทศไทยมีอาหารส่วนเกินถึงเกือบ 4 ล้านตันต่อปี ขณะที่ประชากรที่มีรายได้น้อย มีปัญหาการเข้าถึงอาหารถึง 3.8 ล้านคน สวทช.ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG สาขาอาหาร ร่วมกับ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) หน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ได้ศึกษา วิจัยเพื่อสร้างต้นแบบการบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน (Food surplus) ของประเทศไทย ทั้งนี้ การลดการสูญเสียอาหารตั้งแต่ต้นทาง เป็นแนวทางสำคัญในการลดวิกฤตปัญหาขยะอาหาร

สวทช. ได้นำแพลตฟอร์มดิจิทัลแนะนำการจับคู่ความต้องการและอาหารบริจาคแบบอัตโนมัติมาใช้บริหารจัดการอาหารส่วนเกินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข. ช่วยเพิ่มความสะดวกให้ผู้รับบริจาค รองรับการขยายฐานผู้บริจาคอาหาร เพิ่มประสิทธิภาพการ จัดส่งอาหารไปยังผู้ขอรับความช่วยเหลือได้ตรงตามความต้องการและลดความเสียหายของอาหาร

วางแนวปฏิบัติอาหารปลอดภัยสำหรับอาหารบริจาค (Food Safety Guideline) ตั้งแต่การรับอาหาร การเก็บรักษาอาหาร การขนส่ง การแจกจ่ายอาหาร หลักปฏิบัติสำหรับผู้สัมผัสอาหาร เช่น การแช่แข็งอาหารส่วนเกินและติดฉลากใหม่ การระบุวันที่และระยะเวลาที่แนะนำ ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายและการควบคุมอันตราย เช่น สารเคมี สารก่อภูมิแพ้ หลักปฏิบัติในการเตรียมอาหาร เช่น การทำละลายอาหารแช่แข็ง การทำให้สุก การทำให้เย็น การอุ่นร้อน การรักษาความปลอดภัยอาหารระหว่างขนส่ง เป็นต้น สอดคล้องกับข้อกำหนดด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย เพื่อให้อาหารที่แจกจ่ายมีความปลอดภัยและเหมาะสมต่อการบริโภค ช่วยให้มั่นใจต่อผู้บริจาคและผู้รับบริจาค ช่วยสนับสนุนให้เกิดการบริจาคอาหารในวงกว้างมากขึ้น

นางสาวกุลวรา โชติพันธุ์โสภณ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) กล่าวว่า การเปิดตัวธนาคารอาหารของประเทศไทย เป็นต้นแบบที่สะท้อนถึงพลังของเทคโนโลยีในการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นใจให้กับทั้งผู้บริจาคและผู้รับบริจาคผ่านระบบการบริหารจัดการที่โปร่งใสตรวจสอบได้ ผลักดันให้เกิดการบริจาคอาหารส่วนเกินให้ขยายวงกว้างขึ้น นับเป็นก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงสู่สังคมไร้ขยะอาหารและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

นายทวี อิ่มพูลทรัพย์ ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) ประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิ SOS ได้ส่งต่ออาหารส่วนเกินไปแล้วกว่า 8.3 ล้านกิโลกรัมหรือ 35 ล้านมื้อ ให้แก่ชุมชนต่าง ๆ มากกว่า 3,600 แห่ง เท่ากับลดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการนำอาหารไปฝังกลบถึง 21,166 ตัน โดยดำเนินการมาก่อนแล้วกับโครงการ BKK Food Bank ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) และนำแพลตฟอร์มการจับคู่ความต้องการ อาหารบริจาคแบบอัตโนมัติของ สวทช. ใช้งานร่วมกับแพลตฟอร์ม Cloud Food Bank (CFB) แพลตฟอร์มองค์กรพันธมิตรต่าง ๆ

การส่งต่ออาหารส่วนเกิน มูลนิธิ ทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้แทนเอกชนผู้ผลิตอาหารในเครือข่ายของหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร้านสะดวกซื้อ โรงแรม และร้านอาหาร ซึ่งเป็นผู้บริจาคอาหาร และส่งต่อให้กับเครือข่ายผู้รับบริจาคอาหาร ทั้งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน

โครงการจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทย เป็นการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานการจัดการอาหารส่วนเกิน ให้กับประชาชนทั่วไปเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาหารส่วนเกินและเชิญชวนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมสร้างสังคมไร้ขยะอาหาร นำร่องที่ชุมชนย่านลาดพร้าว เพื่อให้เห็นต้นแบบระบบการบริหารจัดการอาหาร เพื่อส่งต่ออาหารส่วนเกินไปยังกลุ่มเปราะบางของสังคมไทย ภายในงาน ยังมีการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินในลักษณะธนาคารอาหาร ทั้งในมุมประสบการณ์กอบกู้อาหารส่วนเกินและการส่งต่ออาหาร โดยมูลนิธิ SOS มุมประสบการณ์บริจาคอาหารและแรงบันดาลใจในการเป็นผู้บริจาคอาหารส่วนเกิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง