เข้มมาตรฐานขอทุนวิจัยต้องผ่านเกณฑ์จริยธรรม

วันศุกร์ ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

การดู : 199

เข้มมาตรฐานขอทุนวิจัยต้องผ่านเกณฑ์จริยธรรม

แชร์ :

วช. เข้ม เริ่มเกณฑ์มาตรฐานการวิจัย ต้องทำตามหลักจริยธรรม คุ้มครองทั้งคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม ผู้เกี่ยวข้องกับงานวิจัย ต้องปลอดภัย ทำระบบกลางการบริหารภาพรวมของการวิจัยและนวัตกรรม (NRIIS)

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) แถลงว่า วช. ได้จัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (NRIIS) เป็นระบบกลางการบริหารภาพรวมของการวิจัยและนวัตกรรม โครงการวิจัย นักวิจัย แผนงานวิจัย และโครงสร้างพื้นฐานของระบบวิจัย ในการเสนอขอรับงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และจากแหล่งทุนต่าง ๆ

การยื่นขอรับงบประมาณผ่านระบบ NRIIS นักวิจัยต้องกรอกรายละเอียดตามแบบฟอร์มที่ วช. กำหนด เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ สร้างความตระหนักถึงผลกระทบที่ตามมาจากการประพฤติผิดจริยธรรมการวิจัย รวมทั้งวิธีการแก้ไขและป้องกันให้แก่นักวิจัย เป็นการผลักดันงานวิจัยที่อยู่ในความเสี่ยง ให้ขึ้นมาอยู่ในระดับที่มีความรับผิดชอบทางการวิจัย เพื่อความเชื่อมั่นว่าการวิจัยเป็นไปตามหลักจริยธรรม กฎหมาย และการทำงานวิจัยที่โปร่งใส มีคุณภาพ เชื่อถือได้ นักวิจัย และผู้ร่วมวิจัย ที่ยื่นขอรับการสนับสนุนทุนอุดหนุนการวิจัย ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมการวิจัย ที่จัดอบรมโดย วช. หรือ หน่วยงานภายนอกที่ให้การอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องดังกล่าว

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดงานแถลงข่าวการดำเนินงานตามมาตรฐานการวิจัยผ่านระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (NRIIS) ที่สำนักงานวช.เมื่อ วันที่ 30 พค. 67

นายสมปรารถนา สุขทวี รอง ผอ.วช. กล่าวว่า มาตรฐานการวิจัยจะเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2568 ที่เปิดรับข้อเสนอโครงการในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2567 โดยระบบมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการด้านสารเคมีสามารถเข้าลงทะเบียน ได้ที่เว็บไซต์มาตรฐานการวิจัยและจริยธรรมการวิจัย วช. กรณีที่ยังไม่มีเลขทะเบียนห้องปฏิบัติการ สามารถใช้เลขทะเบียนของห้องปฏิบัติการอื่นได้ภายใต้เงื่อนไขที่ วช. กำหนด

ดร.อัณณ์ณิชา โตกิจกล้าธวัฒน์ ผอ.กองมาตรฐานการวิจัยและสถาบันพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ กล่าวถึง มาตรฐานการวิจัยที่ให้นักวิจัยเลือกสถานะความเกี่ยวข้องด้านมาตรฐานการวิจัย ได้แก่ 1. มาตรฐานการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ เกี่ยวข้องกับการเลี้ยง และการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ของประเทศ โดยสถาบันพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (สพสว.) เพื่อผลักดันให้มีกฎหมายในการกำกับ ดูแล และส่งเสริมการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ 2. มาตรฐานการวิจัยในมนุษย์ ในด้านสังคมศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่อาสาสมัครว่าได้รับการคุ้มครอง สิทธิ ศักดิ์ศรี ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดี ตามหลักจริยธรรมการวิจัยระดับสากล

3. มาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพ ต้องมีกระบวนการป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายสู่ตัวผู้ปฏิบัติงาน ผู้ร่วมปฏิบัติงาน และสิ่งแวดล้อม โดยใช้กฎหมายควบคุม กำกับ ดูแลความปลอดภัยทางชีวภาพในการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ 4. มาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการด้านสารเคมี ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการจัดการความปลอดภัยห้องปฏิบัติการอย่างเป็นระบบและมีความต่อเนื่อง สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ เพื่อควบคุมมาตรฐานการวิจัยให้อยู่ในกรอบจริยธรรมการวิจัย ไม่ให้ขัดต่อพระราชบัญญัติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง