อนุรักษ์พันธุกรรมพืชตามแนวพระราชดำริงานวิจัยเพื่อประโยชน์มหาชน

วันจันทร์ ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

การดู : 66

อนุรักษ์พันธุกรรมพืชตามแนวพระราชดำริงานวิจัยเพื่อประโยชน์มหาชน

แชร์ :

โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชตามแนวพระราชดำริ ศุภมาสแจงความสำเร็จงานวิจัยสร้างประโยชน์ให้ไทยทุกคน วช.เผย 30 ปีร่วมอนุรักษ์ทั้งพืชหลักและพืชอัตลักษณ์ท้องถิ่น สัก มะเกี๋ยง เซียงดา ตะคึก

นส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในการประชุมเรื่อง การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชตามแนวพระราชดำริ : ประโยชน์แท้แก่มหาชน ในงาน  อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่าง ที่ห้องประชุม MR 209 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 67

น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชตามแนวพระราชดำริ มีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างความเข้าใจและเห็นคุณค่าของพันธุกรรมพืชของไทย สู่การนำไปใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ผลงานวิจัยสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของโครงการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชอนุรักษ์ และสร้างประโยชน์ให้แก่คนไทยทุกคน

นายพรชัย จุฑามาศ รองผอ.โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในประเทศไทยเริ่มต้นจากพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อปี พ.ศ. 2528 มีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชที่มีค่าให้คงอยู่สำหรับคนรุ่นหลัง จากความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อขยายพันธุ์ขนุนไพศาลทักษิณ นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บรักษาพันธุกรรมของพืชเอกลักษณ์ในสภาวะปลอดเชื้อในอุณหภูมิต่ำ เพื่อให้ใช้ประโยชน์ในอนาคต ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม ราชกุมารี (อพ.สธ.) ขึ้น เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรพันธุกรรมพืชให้เกิดประโยชน์กับมหาชนชาวไทย

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า 30 ปีที่ผ่านมา วช.ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยสนับสนุนการวิจัยพืชอนุรักษ์หลากหลายชนิด อาทิ ทุเรียน สัก มะเกี๋ยง และพืชอัตลักษณ์ท้องถิ่น เช่น ผักเชียงดา ตะคึก เพื่อนำความรู้ไปใช้ประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ในปี 67 นี้ วช. ขยายขอบเขตการทำงานไปสู่การสนับสนุนสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้และเห็นคุณค่าของทรัพยากรพันธุ์พืชในท้องถิ่น และร่วมกันอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่สืบไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง