สถาบันคลังสมองสร้างนิเวศสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล

วันอาทิตย์ ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2567

การดู : 201

สถาบันคลังสมองสร้างนิเวศสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล

แชร์ :

“ในโลกปัจจุบันเราไม่สามารถหนีพ้นความเป็นดิจิทัล แต่ใครจะวิ่งได้เร็วกว่า พร้อมก้าวเข้าสู่การเรียนรู้ และอยู่ในโลกดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบ มีประสิทธิภาพ และไม่ถูกหลอก คนไทยควรตระหนักถึงความสำคัญและมหาวิทยาลัยควรมีบทบาทในเรื่องนี้ด้วย”

คำกล่าวตอนหนึ่งของ รศ. ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผอ.สถาบันคลังสมองของชาติ ในเวที “DU Forum เปิดนิเวศมหาวิทยาลัยดิจิทัล” จัดโดยโครงการการสร้างนิเวศสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล เพื่อสร้างพื้นที่พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เปิดประตูสู่การสร้างความรู้จัก พัฒนาเครือข่ายนิเวศมหาวิทยาลัยดิจิทัลทั่วประเทศ สร้างการเชื่อมต่อและผนึกกำลังกับเครือข่ายทั้งภาคการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรภาคเอกชน ที่ห้องประชุมกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถนนศรีอยุธยา

มหาวิทยาลัยดิจิทัล

สถาบันคลังสมองฯ ได้สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ มุ่งสู่การเป็น มหาวิทยาลัยดิจิทัลเต็มรูปแบบ จึงต้องมีเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบความพร้อม พิจารณาสภาพแวดล้อม ที่มหาวิทยาลัยจะขับเคลื่อนไปได้เร็วที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุด เพราะระบบนิเวศดิจิทัลเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย เป็นเครือข่ายที่เดินไปด้วยกันโดยไม่โดดเดี่ยว

อ.ดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี ผู้ดูแลโครงการการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล กล่าวว่า ความสำคัญของการเชื่อมโยงระบบนิเวศดิจิทัล ประการแรกคือ การแบ่งปันทรัพยากร ซึ่งจะเห็นชัดว่ามหาวิทยาลัยใด ดำเนินการอะไรไปแล้ว เพื่อไม่เกิดความซ้ำซ้อน ประการต่อมาคือ การนำไปใช้ให้ตรงกับพื้นที่ของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งที่มียุทธศาสตร์เป้าหมายของตน ประการสุดท้ายการขับเคลื่อนขององค์กรต่าง ๆ จะต้องมุ่งไปที่วัตถุประสงค์เป็นสำคัญมากกว่าเทคโนโลยีสารสนเทศเพียงอย่างเดียว ดังนั้นจึงต้องทำให้ผู้บริหารระดับบน ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างตรงจุด ทั้งยังเป็นการเหลาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่มักเรียกกันว่า หัวสี่เหลี่ยม ให้กลมขึ้น ก่อนขับเคลื่อนองคาพยพทั้งประเทศต่อไป

การเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอกนั้น ในอดีตมองว่าเป็นโลกของการแข่งขัน แต่ในความเป็นจริง มี 3 สิ่งที่สำคัญ ได้แก่ 1) ความเป็นตัวตนหรืออัตลักษณ์ที่ไม่มีใครแย่งไปได้ ต้องหาว่าเราเก่งเรื่องอะไร 2) พันธมิตร มีหลายส่วนที่เพื่อนถนัดกว่า การมีเพื่อนมาอยู่ร่วมวงจะทำให้อัตลักษณ์ของเราแข็งแรง มั่นคงมากขึ้น 3) กลุ่มดิจิทัลที่เชื่อมโยงการทำงาน เพื่อให้เห็นระยะเวลา ความเร็วและน้ำหนักของงาน

ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการเชื่อมต่อระบบนิเวศดิจิทัล อันดับแรกเป็นลูกค้าหรือผู้รับบริการของมหาวิทยาลัย ทำให้นักศึกษามีทางเลือก ขณะที่มหาวิทยาลัยเองยังประหยัดสุด ประโยชน์สุด เพียงแค่กะเทาะกรอบความคิดจากการแข่งขันเป็นการแบ่งปัน สิ่งที่จะได้กลับไปคือมหาวิทยาลัยจะกลายเป็นคลัสเตอร์ต้นแบบของโลกที่ทำให้เราก้าวไปด้วยกันและไปได้ไกล นั่นคือ คลัสเตอร์ของความสามารถทางเทคโนโลยีในโลกแห่งความจริง มิใช่เพียงนำข้อมูลมาแปะแล้วแต่งตัว

“เราต้องเชื่อมเป้าหมาย เชื่อมกระบวนงาน แล้วจึงเชื่อมเทคโนโลยี ถ้ากลัดกระดุมไปที่เทคโนโลยีก่อน หลายครั้งจะเจอคำว่าโมฆะ แต่ดิจิทัลจะช่วยให้เกิดการเชื่อมต่อไปสู่ความร่วมมือ ทำให้คุยกันได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นจะช่วยให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น เราต้องเริ่มต้นจากการใส่ใจตัวเอง ใส่ใจคนอื่นให้เป็น หาตัวเองให้เจอ จึงจะหาคนอื่นมาหนุนเสริมได้ถูกต้องโดยไม่มีใครถูกทิ้งให้เสียเปรียบ และยุติธรรมต่อกัน สุดท้ายต้องแบ่งปันข้อมูลและเทคโนโลยี ทั้งนี้จะต้องหาให้เจอว่าสิ่งที่ทำมีเป้าหมายอะไร ระยะที่สองจะเกิดอะไรขึ้นด้วยหลักการ care, fair และ share

ส่วนแนวทางการทำงานร่วมกันในเชิงนโยบายนั้น ดร.วรา วราวิทย์ คณบดีคณะเทคโนโลยีดิจิทัล สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์การปรับเปลี่ยนสู่ความเป็นดิจิทัล ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทุกมหาวิทยาลัยมีนโยบายในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยดิจิทัล ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้ จึงจัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนภารกิจ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้ช่วยกันทำงานเพื่อสร้างความตระหนัก แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และองค์ความรู้ต่าง ๆ ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีคลาวด์ การใช้ดิจิทัลไอดี และการสร้างสถาปัตยกรรมองค์กร ซึ่งจะทำให้มหาวิทยาลัยของไทยในภาพใหญ่ขับเคลื่อนไปได้ โดยไม่มีความแตกต่างในการพัฒนาดิจิทัลมากนัก ทั้งนี้การพัฒนาดิจิทัลได้ผ่านมาหลายคลื่นแล้ว แต่ในยุคนี้เป็นโอกาสที่สำคัญเนื่องจากเรามีคนที่มีความรู้และมีกำลังคนด้านดิจิทัลพอสมควรที่จะช่วยกันขับเคลื่อน เพื่อให้การศึกษาของไทยก้าวสู่ยุคใหม่ และพัฒนากำลังคนศักยภาพสูงต่อไปในอนาคต

รศ. ดร.บวร ปภัสราทร ว่าที่ ผอ.สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่าจะสานต่อนโยบายมหาวิทยาลัยดิจิทัล เสริมบทบาทใหม่ของมหาวิทยาลัยไทยในโลกปัจจุบัน จากเดิมที่ต้องเรียนใน
รั้วมหาวิทยาลัยถึงจะได้รับปริญญา แต่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลจะทำให้ทุกคนทุกช่วงอายุได้เพิ่มทักษะของตัวเองให้มีความสามารถในการทำงานหรือการจ้างงานมากขึ้น ประเทศไทยต้องการทักษะนี้เป็นอย่างมากเนื่องจากเรากำลังมีปัญหาเรื่องวัยแรงงานที่มีจำนวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ผู้บริหาร

“บทบาทของสถาบันคลังสมองฯ จะเดินหน้า เพื่อสร้างความร่วมมือในการสร้างมหาวิทยาลัยไทยให้มีความเข้มแข็งด้านดิจิทัล ช่วยขับเคลื่อนการเรียนรู้ตลอดชีวิตของไทยในบริบทของดิจิทัล ให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น ให้คนทุกช่วงวัยมีโอกาสได้งานมากขึ้น ผลจากการวิจัยยืนยันว่าคนไทยยอมรับเทคโนโลยีใหม่ได้รวดเร็วมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ความจริงคือเรารับเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้โดยเข้าใจแก่นของเทคโนโลยีน้อยมาก จึงขอฝากว่าเราต้องใช้เทคโนโลยีแต่อย่าตกเป็นทาส อย่าหลงกลโดยเด็ดขาด” รศ. ดร.บวรกล่าวทิ้งท้าย

#

สถาบันคลังสมองของชาติ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง