วิจัยคนรุ่นใหม่ขี้เบื่อ CMMUแนะกลยุทธ์BEATปรับตัวสู้
วันเสาร์ ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2567
การดู : 308
แชร์ :
CMMU วิทยาลัยการจัดการ มหิดล เปิดงานวิจัยใหม่ คนไทยมีพฤติกรรม “เบื่อเท่าฟ้า – เบื่อเท่าจักรวาล” แนะกลยุทธ์
สุดเฉียบBEAT แนวทางแบรนด์ปรับตัวฉุดกำลังซื้อจากทุก Gen พร้อมเปลี่ยนตลอดเวลา
ผศ.ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดทำงานวิจัยการตลาดของคนขี้เบื่อ (Turn Bore To Beat )เจาะลึกพิชิตใจคนขี้เบื่อ เพื่อศึกษาความขี้เบื่อส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อ การเปลี่ยนแบรนด์สินค้า และความภักดีของผู้บริโภคในแต่ละเจเนอเรชันอย่างไร เพื่อต่อยอดการวางกลยุทธ์ทางการตลาดและการสื่อสารเพื่อมัดใจกลุ่มนี้ โดยทำวิจัยกับกลุ่มตัวอย่าง 1,019 คน 4 ช่วงอายุ แบ่งเป็น Gen Z (ผู้เกิดปี พ.ศ. 2541 - 2555), Gen Y (ผู้เกิดปี พ.ศ. 2523 - 2540), Gen X (ผู้เกิดปี พ.ศ. 2508 - 2522) และ Baby Boomers (ผู้เกิดปี พ.ศ. 2489 - 2507)
ผลสำรวจพบว่ากว่า 50% ของคนไทยขี้เบื่อ และมีกลุ่มคนที่เบื่อมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ่ เรียกว่า“เบื่อเท่าจักรวาล” 10.5% “เบื่อเท่าฟ้า” 41.6% โดย Gen ที่มีความเบื่อมากที่สุดจากมากไปน้อย ได้แก่ Gen Z, Y, X และพบอีกว่า 1 ใน 3 หรือ 31.1% ของคนไทยเป็นคนแสวงหาความหลากหลายสูง (High Variety Seeking) เจเนอเรชันที่แสวงหาความหลากหลายสูงมากที่สุดจากมากไปน้อย ได้แก่Gen X, Baby boomer, Y
เมื่อศึกษาลึกลงไปพบว่าเมื่อเบื่อแล้ว เปลี่ยนกลับไปใช้แบรนด์ที่คุ้นเคย 43% ในจำนวนนี้เป็น Gen Z มากที่สุด และเบื่อแล้วเปลี่ยนไปใช้แบรนด์ใหม่ 37% เป็น GEN X มากที่สุด ส่วนอีก 20% เป็นผู้บริโภคที่ยังไม่ตัดสินใจ ซึ่งเป็นไปได้ทั้ง 2 ทางเลือก
สำหรับกิจกรรมแก้เบื่อยอดนิยม 5 อันดับแรกของแต่ละ Gen พบว่าดูหนังหรือโทรทัศน์ เป็นกิจกรรมแก้เบื่อที่ทุก Gen นิยมมากที่สุด ส่วนอันดับรองๆ ลงมา ใน Gen Z ได้แก่ ฟังเพลง เล่นโซเชียล หาของกิน ช้อปปิ้ง Gen Y ได้แก่ เล่นโซเชียลหาของกิน ฟังเพลง ช้อปปิ้ง Gen X ได้แก่ หาของกิน เล่นโซเชียล ช้อปปิ้ง ฟังเพลง Baby Boomer ได้แก่ เล่นโซเชียล หาของกิน พบปะสังสรรค์ ฟังเพลง และถ้าแบ่งตามเพศ พบว่า กิจกรรมแก้เบื่อยอดนิยมของผู้ชาย ได้แก่ การออกกำลังกาย ผู้หญิง ได้แก่ การช้อปปิ้ง และ LGBTQIA+ ได้แก่ การพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง
“การที่ผู้บริโภคเปลี่ยนใจเร็ว ไม่ยึดติดกับแบรนด์ใดๆ เป็นได้ทั้งความเสี่ยงและโอกาส เสี่ยงในแง่ที่ธุรกิจมีการแข่งขันสูง ต้องปรับตัวและพัฒนาอยู่ตลอดเวลาหมดยุคเสือนอนกิน โดยเฉพาะแบรนด์ใหญ่ๆ ส่วนแบ่งการตลาดสูงยิ่งต้องปรับตัว ทั้งเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดเดิมและเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ แขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสแจ้งเกิดของแบรนด์ใหม่ๆ หรือ SMEs ที่สามารถทำสินค้าให้มีคุณภาพทัดเทียมกับแบรนด์ใหญ่ๆ ได้ เพราะคนขี้เบื่อไม่ยึดติดแบรนด์ ถ้าคุณภาพดี มีจุดขายที่โดนใจ ราคาไม่แพงเกินไปก็พร้อมจะลองซื้อมาใช้ได้ไม่ยาก”
ผศ. ดร.บุญยิ่ง กล่าวว่า เราอยู่ในยุคดิจิทัลล้อมรอบด้วยข้อมูลข่าวสารที่มาไวไปไว ความบันเทิงในโลกออนไลน์ และสิ่งเร้าต่างๆ มากมาย คนส่วนใหญ่มีทางเลือกและความสนใจที่หลากหลายมากขึ้น มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง เบื่อง่าย หน่ายเร็ว ชอบความหลากหลาย ท้าทาย ไม่ชอบความซ้ำซากจำเจ แสวงหาความแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างรวดเร็ว คาดเดายาก ซื้อของตามอารมณ์ ชอบลองของใหม่ ไม่มีความภักดี (((Brand Loyalty) ต่อแบรนด์สินค้าเหมือนเช่นในอดีต
ขณะเดียวกัน มีผู้ขายมากขึ้น มีสินค้าใหม่ ตัวเลือกใหม่ๆ ออกสู่ตลาดตลอดเวลา กระตุ้นให้อยากลองของใหม่ไปเรื่อยๆ สินค้าที่เคยขายดี อาจตลอดไป การ Retargeting (การกำหนดเป้าหมายใหม่) ลูกค้ากลุ่มเดิมไม่เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมาย ทำให้เจ้าของสินค้าและบริการในปัจจุบันทำการตลาดยากขึ้นและต้องปรับตัว เช่นการเพิ่มความหลากหลายของสินค้า การกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการใหม่ๆ อยู่เสมอ สร้างสรรค์กิจกรรมส่งเสริมการขาย เพื่อให้ผู้บริโภคพึงพอใจและตัดสินใจซื้อสินค้า ที่เห็นได้ชัดคือกลุ่มสินค้าแฟชั่นที่ต้องออกคอลเลกชันใหม่บ่อยๆ จนกลายเป็น Fast Fashion และกลุ่มสินค้า FMCG (Fast-Moving Consumer Goods) ที่ต้องออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เป็นประจำ ผู้บริโภคกลุ่มนี้ทำให้เกิดเทรนด์ตลาดใหม่ที่่เรียกว่าตลาดของคนขี้เบื่อ เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในอนาคต จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการและนักการตลาดต้องรู้จักและทำความเข้าใจไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตและการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการของคนกลุ่มนี้ หากเจาะกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด สร้างสินค้าหรือบริการที่ตอบสนองต่อความเบื่อได้อย่างตรงใจจะสามารถเข้าไปนั่งในใจผู้บริโภคได้และสร้างธุรกิจให้เติบโตในระยะยาว
นางสาวเชิญตะวัน จูประเสริฐ หัวหน้าทีมงานวิจัย กล่าวว่าสิ่งที่เจ้าของสินค้าและบริการต้องตระหนักไว้เสมอ คือ ไม่ว่าลูกค้าจะขี้เบื่อแค่ไหน่ ไม่ได้หมายความว่าต้องการแค่ความแปลกใหม่หรือแตกต่างเท่านั้น จุดประสงค์ที่แท้จริงมักควบคู่ไปกับความคาดหวังที่จะได้สินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพดีและถูกใจยิ่งกว่าเดิม และจะเปลี่ยนใจเมื่อเจอสิ่งที่ใช่มากกว่า ฉะนั้น แม้ว่าลูกค้าจะเปลี่ยนไปใช้แบรนด์ใหม่สักกี่ครั้ง แต่หากแบรนด์นั้น มีสินค้าหรือบริการไม่ดีพอ ผู้บริโภคก็พร้อมจะกลับมาใช้แบรนด์เดิม ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดที่สามารถครองใจและมัดใจลูกค้าได้อย่างยั่งยืน คือ การรักษาและควบคุมคุณภาพสินค้าและบริการให้ดีอยู่เสมอนั่นเอง
ทั้งนี้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้จัดสัมมนาการตลาดของคนขี้เบื่อ“Turn Bore To Beat เจาะลึกอินไซต์พิชิตใจคนขี้เบื่อเมื่อเร็วๆ นี้ ที่วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯผู้สนใจ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเข้าไปที่ www.facebook.com/mkcmmu
ข่าวอัพเดท