‘วราวุธ’ ชี้ไทยเผชิญวิกฤติประชากร AI เปลี่ยนพฤติกรรมรวดเร็วปรับตัวไม่ทัน

วันเสาร์ ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

การดู : 188

‘วราวุธ’ ชี้ไทยเผชิญวิกฤติประชากร AI เปลี่ยนพฤติกรรมรวดเร็วปรับตัวไม่ทัน

แชร์ :

‘วราวุธ’ ปาฐกถาพิเศษ ‘ทิศทางสังคมไทย’ ชี้กำลังเผชิญวิกฤติประชากร รับ AI เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์อย่างรวดเร็วจนปรับตัวไม่ทัน วอนสื่อผลักดันสังคมสู่ความยั่งยืน

วราวุธ ศิลปอาชา

 

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 27 ปี โดยจัดเวทีปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทย ความท้าทายรัฐบาล”  โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ร่วมปาฐกถาพิเศษ "ทิศทางสังคมไทย" ตอนหนึ่งว่า โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตมากมาย ทั้ง Climate Change, Pollution, Pandemic, Conflicts, Digital Transformation, Population Crisis ซึ่งวิกฤตเหล่านี้ ล้วนส่งผลให้ความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจ และการเมืองทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น อย่างที่ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ แน่นอนว่าความท้าทายทางด้านสังคมย่อมมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แก้ปัญหาได้ยากยิ่งขึ้น

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า แนวโน้มความท้าทายทางสังคมจะต้องอาศัย Global Trends : Urbanization, New business model แบบ Innovation Driven & Digital Disruption, AI เปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตของมนุษย์ และรูปแบบของสังคม ซึ่งโครงสร้าง และลักษณะของสังคมไทย โดยเฉพาะรูปแบบของความสัมพันธ์ในครอบครัว และวัฒนธรรมได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว และรุนแรง จนอาจพูดได้ว่า เร็วและแรงเกินกว่าที่จะรับมือได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น พวกเราทุกคนต้องเผชิญกับความท้าทายนี้ โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเปราะบาง ที่มีต้นทุนและความสามารถในการปรับตัว (Adaptive Capacity) ไม่เท่ากับกลุ่มคนอื่นๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมโลกหรือสังคมไทยก็ตาม ย่อมได้รับผลกระทบสูงกว่า และดำเนินชีวิตต่อไปได้ยากเข็ญกว่า

นายวราวุธ กล่าวด้วยว่า สังคมไทยเผชิญกับอะไรบ้าง ขอยกตัวอย่างฉายภาพ "ปัญหาสังคม" จากข้อมูลของศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ผู้แจ้ง ร้องเรียน สอบถาม ผ่านช่องทางของกระทรวง พม. เดือนละ 12,000 - 18,000 ราย โดยในเดือน พ.ค. รับแจ้ง 18,607 กรณี ซึ่งกว่า 50% เป็นเรื่อง "ความสัมพันธ์ในครอบครัว" ก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว และเหยื่อส่วนใหญ่เป็นเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคมไทย ที่จะบ่มเพาะ และสร้างโครงสร้างที่แข็งแกร่งของสังคม และเป็นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังสั่นคลอน 

“เด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ กำลังตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ส่งผลให้การพัฒนาศักยภาพเชิงความคิด สติปัญญา และความสามารถทางกายภาพถูกบั่นทอน โครงสร้างประชากรของไทยกำลังเปลี่ยนแปลง จนเรียกได้ว่า เรากำลังเผชิญกับวิกฤตประชากร” นายวราวุธ กล่าว

รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า วิกฤตประชากร คือปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกก็เผชิญกับวิกฤตนี้ เช่น ญี่ปุ่นมีสัดส่วนของประชากรสูงอายุมากถึงประมาณ 30% ไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุ 20% เป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ หรือ Aged Society และคาดว่าจะเป็น Super-Aged Society เหมือนญี่ปุ่น ภายใน 10-15 ปีข้างหน้า เนื่องจากเด็กเกิดน้อยประมาณ 5 แสนคน จำนวนบุตรเฉลี่ย 1 คนต่อสตรี 1 คน ซึ่งน้อยกว่าญี่ปุ่นอีก ซ้ำเด็กยังด้อยคุณภาพ และเมื่อเกิดน้อยลง "ครอบครัว" มีขนาดเล็กลง โครงสร้างครอบครัวไทย (Living arrangement) ก็เปลี่ยนแปลงไป การฟูมฟักอบรมเลี้ยงดูบุตรโดยพ่อ-แม่ ลดน้อยลง การเกื้อหนุนกันและดูแลกันระหว่างรุ่นเริ่มจางหายไป รูปแบบรายได้/รายจ่ายเปลี่ยนแปลงไป จนหลายครอบครัวไม่สามารถตั้งรับ และปรับตัวได้ ครอบครัวบางรูปแบบมีแนวโน้ม "เปราะบาง" เช่น ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว หรือสภาวะที่ผู้สูงอายุต้องอยู่คนเดียว ทั้งนี้ แนวโน้มครัวเรือนอยู่คนเดียว ครัวเรือนที่ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง หรืออยู่กับคู่สมรสเพียงลำพังมีมากขึ้น แน่นอนว่าวัยแรงงาน ซึ่งเพิ่มขึ้นไม่ทันกันกับพีระมิดของผู้สูงวัย ทำให้ต้องรับภาระ ทั้งดูแลตนเอง ลูก และพ่อแม่ ซึ่งเป็นผู้สูงวัย กลายเป็น "The แบก" ซึ่งผู้ที่มีอายุ 50-59 ปี ณ ขณะนี้ จะกลายเป็นผู้สูงอายุในอีก 5-10 ปีข้างหน้า แต่ยังคงมีภาระที่จะต้องดูแลพ่อ-แม่ ที่จะมีอายุ 80 ปีขึ้นไปอีก 10 ปีข้างหน้า

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตประชากร ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ นับเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ ประการแรก คือ ประชากรไทยลดลงจาก 70 ล้านคน จะเหลือ 58.26 ล้านคน ในอีก 25 ปี ประการต่อมา คือ เด็กเกิดน้อย แต่จะทำอย่างไรให้เด็กมีคุณภาพ และประการสุดท้าย คือ รัฐต้องรับภาระงบประมาณด้านสังคม จนอาจเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ซึ่งการรับมือนั้น หลายประเทศใช้การกำหนดนโยบาย ปรับเปลี่ยนกฎหมาย พัฒนานวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี

ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้ผลักดันและขับเคลื่อน "นโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร" จากความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ซึ่งนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ และแต่ละยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 5 มาตรการหลัก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางของสังคมไทย เชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของประเทศ  

ยุทธศาสตร์ที่ 1 เสริมพลังวัยทำงานให้สามารถตั้งตัวได้ สร้างและดูแลครอบครัวได้ และพร้อมที่จะเป็นผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพในอนาคต ด้วยการเพิ่มโอกาส พัฒนาทักษะ (Upskill/Re-skill) และสมรรถนะในการบริหารการเงิน พร้อมๆ ไปกับการดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว

ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มคุณภาพเด็ก เร่งส่งเสริมการพัฒนาทักษะชีวิตและความรู้ วิชาชีพตามวัย ให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน/ยกระดับผลิตภาพ (productivity) เพื่อรับมือกับการลดลงของประชากร

ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างพลังผู้สูงอายุ ผู้เชี่ยวชาญชีวิต นำมาเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคม และเศรษฐกิจ ด้วยการเสริมทักษะ (Upskill/Re-skill) ในการทำงานต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างโอกาสและคุณค่าให้คนพิการ สัดส่วนของคนพิการ ร้อยละ 6 ของประชากร และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต้องเสริมทักษะ (Upskill/Re-skill) และปรับทัศนคติในการจ้างงาน ฃ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ซึ่งสำคัญมาก คือ สร้างสภาพแวดล้อมทางสังคม และทางกายภาพที่เอื้อต่อการสร้างและดูแลครอบครัวให้มั่นคง/พลิกฟื้นสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์ Green Economy, Carbon footprint, Sustainable consumption and production (SCP)

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า คนไทยทุกคนต้องร่วมเดินฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน หรือเราจะรอให้ระบบเศรษฐกิจล่มสลาย เมื่อเราไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในอีก 10 หรือ 15 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ สื่อมวลชนมีอิทธิพลมากในการสร้างทัศนคติ ค่านิยม และกระแสความคิดของประชาชน จึงขอวอนร่วมสร้างความตระหนักรู้ กระตุ้นการลงมือทำ และร่วมลงมือทำทันที "Action Now" ซึ่งปัจจุบัน สื่อสังคมออนไลน์นั้น "ใครๆ ก็เป็นสื่อได้" เป็นทางเลือกที่คนไทยนิยมมากขึ้นทุกวัน บางคนถึงขั้นเสพติดสื่อในลักษณะนี้ ดังนั้น ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนสังคม ต้องรักษาคุณค่า และจรรยาบรรณการสร้างคอนเทนต์ ต้องระมัดระวัง ไม่ใช้เด็กเป็นเครื่องมือ หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาของเด็กและเยาวชน การนำเสนอความรุนแรง อาชญากรรม ความขัดแย้ง และเรื่องราวทางเพศ ในลักษณะที่อาจนำไปสู่การบ่มเพาะพฤติกรรม

“บางครั้งสื่อเองก็อาจกำลังทำหน้าที่พ่อ หรือแม่ หรือลูก แต่ที่แน่นอน ท่านเป็นวัยแรงงานที่มีภาระที่ต้องดูแลตัวเอง และบุคคลอันเป็นที่รัก และกำลังจะก้าวไปเป็นผู้สูงอายุในอนาคตอันไม่ไกลนัก ท่านมีศักยภาพและโอกาสสูงในการช่วยดึงพลังแฝงจากผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ในกลุ่มต่างๆ มาเป็นพลังของสังคมได้ เป็นพลังสำคัญของสังคมไทย ในการเชื่อมโยงประเด็นความท้าทายทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ตีแผ่ให้ทุกภาคส่วนได้เห็นถึงความจำเป็นในการเดินหน้าฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งผมเชื่อมั่นในพลังของสื่อในการผลักดันสังคมไทยสู่ความยั่งยืนอย่างมั่นคง” นายวราวุธ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง