วช.ไทยอวดงานแม่โขง-ล้านช้าง ประชุมใหญ่สภาวิจัยโลก
วันศุกร์ ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2567
การดู : 134
แชร์ :
วช. ร่วมวงประชุมใหญ่ สภาวิจัยโลก Global Research Council (GRC) 2024 วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้แทนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โชว์โปรเจกต์ใหญ่ ความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ชุมชนสันติภาพและความเจริญร่วมกัน สอดคล้องประเด็นหลักแห่งปี การพัฒนาที่ยั่งยืน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ในฐานะกรรมการบริหารจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิกฟิก นำคณะเข้าร่วมการประชุมใหญ่ Global Research Council (GRC) 2024 ครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 27 – 30 พค.67 ณ เมืองอินเทอร์ลาเคน สมาพันธรัฐสวิส โดยมี Swiss National Science Foundation (SNSF) สมาพันธรัฐสวิส เป็นเจ้าภาพหลัก และ Fonds pour la Science, la Technologie et l'Innovation(FONSTI) สาธารณรัฐโกตดิวัวร์ (Côte d'Ivoire) เป็นเจ้าภาพร่วม ภายใต้หัวข้อ การวิจัยที่ยั่งยืน (Sustainable Research) มีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานให้ทุนสนับสนุนการวิจัยจาก 5 ภูมิภาค ประกอบด้วย เอเชีย-แปซิฟิก, ยุโรป,อเมริกา, ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ, และแอฟริกาใต้สะฮารา 61 ประเทศ มากกว่า 300 คน เข้าร่วมการประชุมฯ
ดร. วิภารัตน์ ในฐานะผู้แทนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อภิปรายหัวข้อ โครงการริเริ่มสำคัญของภูมิภาคในการสนับสนุนการวิจัยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนนำเสนอ กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง เพื่อการสร้างชุมชนที่มีภาพอนาคตแห่งสันติภาพและความเจริญร่วมกัน สมาชิกประกอบด้วย สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศไทย เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ ทุกประเทศมีเป้าหมายเดียวกันในการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และระหว่างอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับภูมิภาคอื่นๆ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับประชาคมอาเซียนในภาพรวม
ดร. วิภารัตน์ฯ ยังได้นำเสนอมุมมองขอผู้บริหารหน่วยงานในฐานะหน่วยงานให้ทุนวิจัยหลักของประเทศไทย ต่อการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทักษะ การถ่ายทอดความรู้ วิธีและแนวทางในการรับมือกับความท้าทาย รวมถึงการประเมินการสนับสนุนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน
การประชุมหลักของ GRC 2024 จัดขึ้นในวันที่ 29 – 30 พค. 67 ณ Congress Kursaal Interlaken สาระหลักเน้นประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประเด็นวิจัยสำคัญของแต่ละภูมิภาค ซึ่ง GRC ถือเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่หน่วยงานให้ทุนทั่วโลกจะมารวมตัวกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและกลไกท้าทายที่สำคัญ
การประชุมหลัก ประกอบด้วย 3 หัวข้อ คือ
1) Sustainable Research - What are We Talking about
2) Research for Sustainable Development และ
3) Making Research More Sustainable
หัวข้อ Research for Sustainable Development ได้จัดให้มี Panelist การเสวนาจากผู้บริหารหน่วยงานสนับสนุนทุนการวิจัยจากทั้ง 5 ภูมิภาค ประกอบด้วย
- ภูมิภาคยุโรป: Prof. Ottoline Leyser – President of UKRI, UK
- ภูมิภาคอเมริกา: Prof. Marco Antonio Zag - President of the São Paulo Research Foundation (FAPESP), Brazil
- ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก: ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
- ภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา: Dr. Fulufhelo Nelwamondo – CEO of the National Research Foundation(NRF), South Africa
- ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ: Dr. Saif Al-Hiddabi - Undersecretary for Research and Innovation, Ministry of Higher Education, Research and Innovation, Oman
Global Research Council (GRC) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่เกิดจากการรวมตัวกันของหน่วยงานให้ทุนวิจัยหลักของประเทศต่างๆทั่วโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อการแบ่งปันข้อมูลและแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practice) และเปิดโอกาสให้ประเทศขนาดใหญ่และขนาดเล็กทำงานร่วมกันอย่างไร้พรมแดน วช. เป็นหน่วยงานของประเทศไทยที่เข้าร่วมตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง GRC มีคณะกรรมการบริหาร (Governing Board) มาจากผู้บริหารของหน่วยงานสมาชิกทั้ง 5 ภูมิภาค โดยการเลือกตั้ง ทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินกิจกรรมของ GRC ตลอดจนให้ความเห็นในประเด็นสำคัญเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานให้ทุนประเทศต่างๆ ให้มีความเข้มแข็งเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่ท้าทายของโลก ดร.วิภารัตน์ฯ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่เดือนมิย. 64 – พค.67
ข่าวอัพเดท