รู้ไว ไตไม่วาย สปสช.ส่งชุดตรวจหาโรคทั่วอีสาน

วันอังคาร ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567

การดู : 463

รู้ไว ไตไม่วาย สปสช.ส่งชุดตรวจหาโรคทั่วอีสาน

แชร์ :

ชุดตรวจคัดกรองไต

   สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 7 ขอนแก่น จัดงานมหกรรมป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรัง เนื่องใน “วันไตโลก” ประจำปี 2567 เมื่อวันที่14มี.ค.67 โดยร่วมกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ส่งมอบชุดตรวจคัดกรองโรคไต นวัตกรรมภายใต้ BCG Implementation 3,500 ชุด และชุดตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ 10,000 ชุด นำร่องที่ จ.ขอนแก่น และจะขยายครอบคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ผศ.ดร.ธนากร โอสถจันทร์

     ผศ.ดร.ธนากร โอสถจันทร์ รักษาการรองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กล่าวว่า โครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองติดตามโรคไตเรื้อรัง และภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน ได้ส่งมอบชุดตรวจคัดกรองโรคไต 3,500 ชุด ชุดตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ 10,000 ชุด ในงานมหกรรมป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรัง เป็นจุดเริ่มต้นขยายผลการใช้งานนวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองและติดตามโรคไตในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ เพื่อช่วยเหลือประชาชน เพิ่มการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยโรคไต สนับสนุนระบบสาธารณสุขและการแพทย์ของประเทศ

ดร.เดือนเพ็ญ จาปรุง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน นาโนเทค สวทช. กล่าวว่า ชุดตรวจคัดกรอง ติดตามโรคไตเรื้อรัง และภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน จะช่วยลดช่องโหว่ ให้ประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคไตได้ตั้งแต่ระยะต้น จากค่าใช้จ่ายในการตรวจที่สูง รวมถึงหน่วยงานที่ให้บริการตรวจไม่เพียงพอ เพราะต้องเป็นสถานพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ และเทคนิคการแพทย์ในห้องปฏิบัติการ

ทีมวิจัย นาโนเทค สวทช. พัฒนา 2 เทคโนโลยี ตอบความต้องการใช้งานที่ต่างกัน เทคโนโลยีแรกคือ ‘AL-Strip’ เป็นชุดตรวจโรคไตเชิงคุณภาพ ประชาชนทั่วไปใช้ตรวจคัดกรองได้ด้วยตัวเอง ทราบผลได้ภายใน 5 นาที เพียงหยดปัสสาวะที่เก็บใหม่ลงบนแถบตรวจ อ่านผลจากแถบสี (คล้ายกับการใช้ชุดตรวจคัดกรองโรคโควิด-19) ก็จะทราบผลได้ทันที หากปริมาณอัลบูมิน ซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นสารประกอบหลักของเลือดเจือปนอยู่ในปัสสาวะเกิน 20 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ชุดตรวจจะขึ้นแถบสี 1 ขีด หมายถึง ‘มีความเสี่ยงเป็นโรคไตสูง’ ควรเข้ารับการตรวจโดยละเอียดที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยความผิดปกติของร่างกาย และเข้ารับการรักษา หากผู้ป่วยตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่อยู่ในระยะเริ่มต้น ก็มีโอกาสกลับมาดูแลตัวเอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ชะลอความเสื่อมของไต อาจทำให้ไตกลับมาทำงานเป็นปกติได้

เทคโนโลยีที่สอง คือ GO-Sensor Albumin Test ชุดตรวจโรคไตเชิงปริมาณ เพื่อวิเคราะห์ผลทางการแพทย์ ทีมวิจัยพัฒนาใน 2 ส่วนหลัก คือ เครื่องตรวจปริมาณอัลบูมินที่เจือปนอยู่ในปัสสาวะ ใช้เวลาในการประมวลผล 10-30 นาที ขึ้นอยู่กับความละเอียดของข้อมูลที่ต้องการ หลังประมวลผลสามารถดูข้อมูลได้ผ่านทั้งคอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟน เพื่อให้แพทย์นำผลการตรวจไปใช้งานต่อได้สะดวก ส่วนที่สองคือน้ำยาตรวจที่มีความจำเพาะกับอัลบูมินของมนุษย์ มีความไวในการตรวจมากกว่าชุดตรวจทั่วไปประมาณ 100 เท่า ช่วยลดปริมาณน้ำยาที่ใช้ตรวจได้เป็นอย่างดี

ดร.เดือนเพ็ญ จาปรุง

ดร.เดือนเพ็ญ กล่าวอีกว่า นอกจากเทคโนโลยี เราให้ความสำคัญกับราคาที่จับต้องได้ เพื่อให้ชุดตรวจ AL-Strip เข้าถึงได้ง่าย เพื่อช่วยการคัดกรองโรคไตแบบเชิงรุก ลดจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในประเทศไทย ในขณะที่ GO-Sensor Albumin Test เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้สถานพยาบาลเข้าถึงอุปกรณ์การตรวจเชิงปริมาณเพื่อดูแลรักษาคนไข้ในพื้นที่ ไม่ต้องส่งตัวคนไข้หรือส่งปัสสาวะ ซึ่งต้องควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมและนำเข้ากระบวนการตรวจภายใน 24 ชั่วโมง ไปตรวจยังสถานพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมสูง  

“ปัจจุบัน  มีเอกชนรับถ่ายทอดเทคโนโลยี พร้อมขยายสู่เชิงพาณิชย์ให้ผู้ที่สนใจใช้งานได้ในอนาคตอันใกล้”

รศ.ศิริรัตน์ อนุตระกูลชัย

รศ.ศิริรัตน์ อนุตระกูลชัย ปฏิบัติการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า งานมหกรรมป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรัง เนื่องในวันไตโลกปี 2567 จะขยายผลใช้ประโยชน์ชุดตรวจทางการแพทย์กับหน่วยงานสาธารณสุขพื้นที่ “ร้อยแก่นสารสินธุ์” ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดกาฬสินธุ์ และ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยจะนำชุดตรวจคัดกรองโรคไต GO-sensor และ AL strip ตรวจวัดปริมาณอัลบูมินในปัสสาวะ ซึ่งได้รับอนุญาตจาก อย.(สผ.) ให้เป็นสถานที่ผลิต และประเมินผลทางคลินิกแล้วระดับหนึ่ง ส่งมอบชุดตรวจทดสอบใช้ในพื้นที่เป้าหมายพร้อมอบรมวิธีการใช้งาน และจะประเมินผลลัพธ์ของโครงการฯ รวมถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในการลดค่าใช้จ่ายการนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์จากต่างประเทศ 

          โรคไตเป็นภัยเงียบ ผู้ป่วยเพียง 1.9% ที่รู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคไตแล้ว เนื่องจากระยะต้นมักไม่แสดงอาการ จนการทำงานของไตจะเสื่อมลงเข้าสู่ระยะสุดท้าย ที่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการฟอกเลือด ล้างไต ข้อมูลจาก สปสช. ปีงบประมาณ 2564 ระบุว่า งบประมาณค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 9,720.28 ล้านบาทต่อปี ส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคไตราวคนละ 200,000 บาทต่อปี การรับมือ นอกจากการป้องกันการเกิดโรค เพื่อลดจำนวนผู้ป่วย ยังต้องรู้ให้เร็ว ชะลอความรุนแรงของโรค และลดค่าใช้จ่าย ที่ระยะท้ายๆ จะมีค่ารักษาพยาบาลมากขึ้น

ดร.ภก.ณรงค์ อาสายุทธ

ดร.ภก.ณรงค์ อาสายุทธ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น กล่าวว่า “วันไตโลก” เป็นการรณรงค์ให้ตระหนักถึงภัยอันตรายจากโรคไตวายเรื้อรัง ที่นำความทุกข์ทรมานมาสู่ประชาชน กระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้งของผู้ป่วยและครอบครัว มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง กระทบต่อเศรษฐานะของครอบครัวและงบประมาณของภาครัฐในการจัดการทรัพยากรเพื่อดูแลรักษาพยาบาล ในปีงบประมาณ 2566 มีจำนวนรับบริการสะสมรวม 92,666 คน แยกเป็นบริการล้างไตผ่านช่องท้องอย่างต่อเนื่องรวม 23,445 คน บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) จำนวน 62,197 คน ผ่าตัดปลูกถ่ายไตรายใหม่จำนวน 284 คน และรับยากดภูมิคุ้มกันหลังปลูกถ่ายไต ทั้งรายเก่าและรายใหม่ 2,852 คน นอกจากนี้มีบริการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติจำนวน 3,888 คน ใช้งบประมาณการบำบัดทดแทนไตกว่า 12,000 ล้านบาท

หน่วยงานหรือผู้สนใจชุดตรวจฯ ดังกล่าว ติดต่อได้ที่ งานพัฒนาธุรกิจ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โทร 0 2564 7100

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง