มาแล้ว!เตียงโลคอสต์สั่งพลิกได้ช่วยคนจนติดเตียง

วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

การดู : 130

มาแล้ว!เตียงโลคอสต์สั่งพลิกได้ช่วยคนจนติดเตียง

แชร์ :

วิจัยตรงจุด ม.ขอนแก่น ตอบโจทย์ผู้ป่วยติดเตียงกลุ่มเปราะบาง รวมทีม  3คณะ ออกแบบเตียงพลิกตัวต้นทุนต่ำ ให้คนไข้ ผู้ดูแลกดสวิตช์สั่งได้ ลดเสี่ยงแผลกดทับ ทำด้วยไม้ โลหะ ติดมอเตอร์ ทุนไม่เกิน15,000 ทำคู่มือให้ช่างชุมชนทำกันเองสร้างรายได้ส่งขาย

ศ.ดร.วิชัย อึงพินิจพงศ์ อาจารย์คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ได้ทำโครงการผลิตเตียงพลิกตัวต้นทุนต่ำสำหรับผู้ป่วยติดเตียงโดยชุมชน ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอน แก่น ภายใต้โครงการ CIGUS (C – community, I – industry, G – government, U – university, S – society) ในพื้นที่นำร่อง 2 ชุมชน ได้แก่ ต.บ้านโต้นและต.หนองแวง อ.พระยืน จ.ขอนแก่น ได้มีเตียงที่เหมาะสมในการใช้งานพลิกตะแคงตัวผู้ป่วย ลดการเกิดแผลกดทับ ช่วยลดภาระผู้ดูแลผู้ป่วย และสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับช่างในชุมชน

ศ.ดร.วิชัย อึงพินิจพงศ์

 

การพัฒนาเตียงอัจฉริยะดังกล่าว เข้าสู่เวอร์ชัน 3 วัสดุเตียงใช้ไม้และโลหะบางส่วน ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า ผู้ป่วยและผู้ดูแลกดสวิตช์ควบคุม ให้เตียงพลิกตัวได้ งบประมาณการจัดทำชุดละ 10,000-15,000 บาท เป็นราคาที่ผู้สูงอายุในชุมชนเข้าถึงได้

นายชัยชาญ เพชรสีเขียว  ตัวแทนกลุ่มผู้ผลิตเตียงในชุมชน กล่าวว่า ได้แนะนำผู้สูงอายุป่วยติดเตียงในชุมชนอายุ 91 ปี และผู้ดูแล ถึงการใช้งานเตียงที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีปุ่มกดช่วยให้ลุกนั่ง เอนซ้าย เอียง ผู้ป่วยได้เคลื่อนไหวร่างกาย อากาศถ่ายเทได้ ลดการเกิดแผลกดทับ

ชัยชาญ เพชรสีเขียว

นายชัยชาญกล่าวด้วยว่า ชุมชนได้รับมอบแบบและวิธีการต่อเตียงเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างหารือกับช่างไม้ในชุมชน ทั้งการปรับแบบให้สอดรับกับการใช้งาน การเลือกวัสดุยังมีความเห็นหลากหลาย ทั้งไม้เต็ง ไม้เนื้อแข็ง ไม้สนนอก ให้ได้น้ำหนักเบา หาง่าย รวมถึงการนำเหล็กต่อเป็นเตียงให้ถอดประกอบได้ ขนาดเตียงก็อาจปรับให้ง่ายต่อการขนย้ายเข้าบ้านของผู้ป่วย และคาดว่าจะมีผู้สนใจร่วมเป็นช่างจำนวนหนึ่ง

ผศ.ดร.สุรกานต์ รวยสูงเนิน อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การพัฒนาเตียงผู้สูงวัยป่วยติดเตียง เกิดประโยชน์หลายทาง ทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ หากต่อยอดไปสู่วิสาหกิจชุมชนได้จะเป็นเรื่องดีอย่างมาก เพราะผลิตง่าย ทักษะช่างไม้ที่มีอยู่ในชุมชนทำได้เลยตามแบบและคู่มือการที่เตรียมไว้ อุปกรณ์มอเตอร์ไฟฟ้าก็หาได้ง่ายจากร้านค้าชุมชน การผลิตปริมาณมาก จะยิ่งลดต้นทุนลงมาเหลือราว 10,000 บาทต่อเตียง เพิ่มโอกาสการเข้าถึงเตียงในกลุ่มผู้ป่วยที่มีรายได้น้อย และสร้างรายได้ให้กับชุมชน

รศ.ดร.อัมพรพรรณ ธีรานุตร คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่าผู้ป่วยบางรายนั่งไม่ได้ ต้องนอนอย่างเดียว การพลิกตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับมีความสำคัญมาก การเคลื่อนไหวร่างกาย ข้อไหล่ ข้อศอก ข้อสะโพก ข้อเข่า มีความจำเป็นหากได้เตียงที่มีฟังก์ชันให้เปลี่ยนท่าทาง เคลื่อนไหวผู้ป่วยได้ จะช่วยให้ข้อต่อต่าง ๆ ในร่างกายไม่ติดล็อก ลดปัญหาการผิดรูปที่อาจเกิดขึ้น และแนะนำว่า นอกจากการดูแล การหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของผู้ป่วย การดูแลจิตใจ การให้กำลังใจ ผู้ดูแลควรให้ความหวังในการใช้ชีวิต  คณะฯ มีหลักสูตรอบรม 70 ชั่วโมง แบ่งเป็นทฤษฎี 40 ชั่วโมง ปฏิบัติอีก30 ชั่วโมง รับรองโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ให้มีความรู้การดูแลผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน เช่นเดียวกับ Caregiver หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

ขณะที่ นายอานนท์ ดิษฐเนตร เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุขชำนาญการงาน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ต.บ้านโต้น จ.ขอนแก่น (รพ.สต.บ้านโต้น) ระบุว่าผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงในหมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ดูแลหลักเป็นญาติ เนื่องจากไม่มีทุนทรัพย์พอในการว่าจ้างผู้ดูแลภายนอก  ทางชุมชนได้รับมอบเตียงอัจฉริยะจากทาง ม.ขอนแก่น ให้ผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงทดลองใช้พบว่า เตียงที่สามารถพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยได้ นอกจากช่วยลดการเกิดแผลกดทับ ยังทำให้ผู้ดูแล มีเวลาไปทำอย่างอื่น และเพื่อให้เกิดประโยชน์เต็มที่ ควรการปรับขนาดความสูงของเตียงให้สะดวกกับผู้ดูแล ติดล้อเพื่อเคลื่อนย้ายได้   

ข้อมูลจากหอผู้ป่วยเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบผู้ป่วยที่เป็นแผลกดทับ มีค่าใช้จ่ายรักษาเฉลี่ย คนละ 48,000-55,000 บาท ส่วนผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย คนละ 3,000-5,000 บาทต่อเดือน

การพัฒนาเตียงอัจฉริยะ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตเตียงให้ชุมชนสามารถผลิตใช้งานเองและนำไปต่อยอดสร้างรายได้ให้กับชุมชน และอนาคตหากสามารถส่งต่อไปยังกลุ่มเป้าหมายในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยติดเตียงและผู้ดูแลให้ดีขึ้นด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง