ติงระเบียบเลือก สว.เปิดช่องฮั้วกันเอง
วันศุกร์ ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2567
การดู : 191
แชร์ :
เสวนาฯ เลือก สว.ใครได้เสีย? เตือนระเบียบ กกต.ลั่กลั่น หวั่นเปิดช่องผู้สมัครฮั้วกันเอง “ปริญญา“ เชื่อประกาศไม่ทันเส้นตายชุดใหม่ 2 ก.ค. จับตา สว.ชุดเดิมรักษาการณ์ยาวชั่วนิรันดร์
วันที่ 8 พ.ค. เวลา 10.30 น. ที่อาคารบางซื่อจังชั่น (ตึกแดง) ห้อง Meeting A ชั้น 7 ที่ทำการชั่วคราวสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนกำแพงเพชร 2 สมาคมนักข่าวฯ จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนาในหัวข้อ “เลือก สว.กติกาใหม่ ใครได้ใครเสีย ?” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
สำหรับวิทยากรร่วมเสวนาครั้งนี้ ประกอบด้วย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายรัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล เจ้าหน้าที่ ILAW และนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ส่วนตัวแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ไม่สามารถมาร่วมงานได้
เปิดไทม์ไลน์คัดเลือก สว.ชุดใหม่
เริ่มที่ ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ระเบียบของ กกต.ในเรื่องการสมัคร สว.ถือว่าเป็นปัญหาในทางกฎหมาย วันที่ 2 ก.ค.67 กกต.จะประกาศรายชื่อได้หรือไม่ ทำให้ สว.ชุดปัจจุบันจะทำหน้าที่ไปถึง สว.ชุดใหม่ที่ กกต.ประกาศรายชื่ออกมา โดยมีไทม์ไลน์ดังนี้ สว.ชุดเก่าหมดวาระวันที่ 10 พ.ค.67 จากนั้นเปิดรับสมัคร สว.วันที่ 13 พ.ค.67 ก่อนเข้าสู่การคัดเลือกระดับอำเภอวันที่ 9 มิ.ย.67 คัดเลือกระดับจังหวัด 16 มิ.ย.67 และคัดเลือกระดับประเทศ 26 มิ.ย.67 โดยการคัดเลือกมีการโหวต 6 ครั้งตั้งแต่กลุ่มอาชีพตัวเอง 20 กลุ่มอาชีพ ตั้งแต่ระดับอำเภอจนมาถึงระดับจังหวัด และประเทศ
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวต่อว่า แต่เรื่องใหญ่อยู่ที่การห้ามแนะนำตัวของผู้สมัคร สว.ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.67 เป็นต้นไป โดยเฉพาะการห้ามแนะนำตัวทางวิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ หรือให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน จนกว่าจะมีการประกาศกฤษฎีกามีประกาศบังคับใช้ ทำให้มีคำถามว่าผู้สมัครจะแนะนำตัวในวิธีอื่นอย่างไร จึงต้องมีการตีความว่า ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวได้คือทำก็ได้ หรือไม่ทำก็ได้
ทำผิดมีโทษคุก-ปรับ-ตัดสิทธิ
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการจำกัดการแนะนำตัวของผู้สมัครแค่กระดาษ A4 ไม่เกิน 2 หน้า ถือว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงกว่า ระเบียบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูฯ (พรป.) กกต.หรือไม่ นอกจากนี้การชักชวนให้ประชาชนมาสมัคร สว.ตนเห็นว่าสามารถทำได้ ตราบใดไม่ใช้ทรัพย์สินจูงใจให้สมัคร ดังนั้นการไปสมัครด้วยความตั้งใจถือเป็นสิทธิ์ประชาชนในการชักชวนกันได้เช่นกัน
“แต่หากผู้สมัครคนใดไม่ทำตามที่ กกต.กำหนด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีปรับไม่เกิน 2 หมื่นหรือตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี เรื่องเห็นว่าทำไม กกต.กำหนดให้คนเข้าคุกได้ ทั้งที่ไม่ใช่ฝ่ายนิติบัญญัติ”ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว
เชื่อ 2 ก.ค.ประกาศ สว.ไม่ทัน
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวอีกว่า ส่วนจำนวนผู้สมัคร สว.ครั้งนี้เชื่อว่า จะอยู่ในระดับหลักแสนคน จากเดิมยุค คสช.อยู่ที่ประมาณ 5.5 หมื่นคน และเมื่อมีผู้สมัครจำนวนมากก็เชื่อว่าจะมีการคัดค้านร้องเรียนตามมาหลายเรื่อง ทำให้วันที่ 2 ก.ค.67 กกต.ไม่น่าจะประกาศรายชื่อได้ทัน แต่สิ่งหนึ่งที่ กกต.จะดำเนินการทันที นอกจากนี้ การคัดเลือกในระดับอำเภอ จังหวัดและประเทศ จะบันทึกภาพและเสียงไว้เป็นหลักฐาน ทั้งที่การคัดเลือกควรทำเป็นข้อมูลสาธารณะเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาดูได้เพื่อความโปร่งใส ไม่ให้เกิดความชอบมาพากลในการคัดเลือกตามมา และควรให้สื่อมวลชนเข้าไปสังเกตการณ์ได้
”เรื่องการคัดเลือกควรทำเป็นสาธารณะ โดยสามารถออนแอร์ได้เลยตั้งแต่ระดับอำเภอ โดยมีประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบความโปร่งใส ส่วนการจำกัดสิทธิ์ผู้สมัครนั้น กกต.ควรแก้ไข และควรให้ผู้สมัครรู้จักกันข้ามกันได้“ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว
ขอ กกต.ปรับปรุงระเบียบใหม่
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ถ้าว่าตามกฎหมายเห็นว่า กกต.ถอยเถอะ และปรับระเบียบส่วนเดิมได้หรือไม่ จากนั้นเพิ่มส่วนใหม่เพื่อให้ผู้สมัครรู้จักกันเองได้ โดย กกต.ทำฐานข้อมูลในเว็ปไซต์ขึ้นมาก็ได้ หรือจะใช้วิธีการอะไรก็แล้วแต่เพื่อให้ผู้สมัครแนะนำกันได้ เพราะระเบียบ กกต.ควรจะปรับ เพราะเมื่อมีการร้องที่ศาลปกครอง อาจจะมีปัญหาตามมาภายหลัง อีกทั้งในระเบียบนี้ก็ไม่มีพูดถึงการห้ามฮั้วด้วย ดังนั้น กกต.ควรไปจัดการกับผู้จ่ายเงินให้มาสมัครดีกว่า หากประชาชนมาชักจูงกันที่ไม่ได้จ่ายเงินถือว่าเป็นสิทธิ์ประชาชน เพราะตราบใดไม่ได้เป็นการให้เงินหรือมีผลประโยชน์จูงใจก็ไม่ใช่ความผิดทางอาญา
“ระเบียบก็มีปัญหา แนวทางการทำงาน กกต.ก็มีปัญหาอีก เพราะการแนะนำตัวก็พูดถึงความคิดของเราได้”ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว
หนุนเพิ่มนักสังเกตการณ์
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวอีกว่า มั่นใจว่าวันที่ 2 ก.ค.67 คงยุ่งแน่และไม่สามารถประกาศ สว.ชุดใหม่ได้ เพราะแต่ละพื้นที่สามารถส่งคำร้องคัดค้านตามกฎหมาย กกต.ได้ใน 3 วัน ทำให้จากการโหวตทั้งหมด 6 ครั้ง ถ้าหากมีการทำความผิดตั้งแต่ระดับอำเภอ ก็ทำให้คนที่เข้ามาในระดับจังหวัดก็ต้องผิดไปด้วย ก็ต้องไปเริ่มขั้นตอนใหม่หรือไม่
”ถ้ามีคำร้องมาก กกต.จะพิจารณาได้ทัน 2 ก.ค.หรือไม่ กกต.ก็ต้องทำให้ทุกอย่างโปร่งใสโดยเพิ่มผู้สังเกตการณ์คัดเลือก สว.เข้าไปโดยให้ กกต.ออกระเบียบมา อาทิ กลุ่มผู้สังเกตการณ์จากสื่อมวลชนที่สมาคมนักข่าวฯรับรอง รวมถึงการบันทึกเทปก็ต้องเป็นสาธารณะ และเมื่อมีการร้องข้อก็ต้องเปิดดูได้ หรือสามารถขึ้นเว็ปไซต์ได้เลยไม่ว่าจะเป็นอำเภอไหนเพื่อให้มีความโปร่งใสเข้ามาแทนความไม่ชอบมาพากล เหมือนการมีกล้องหน้ารถ”ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ส่วนเรื่องระเบียบ กกต.ควรทำให้ง่าย เพราะหากเขียนรายละเอียดหยุมหยิมมากมาย ก็ทำให้การร้องเรียนมีจำนวนมากตามมา จนทำให้การประกาศรายชื่อล่าช้าจากผู้สมัครที่มีจำนวนหลักแสนคน จึงคิดว่า กกต.จะทำทันหรือไม่ และทำให้ สว.ชุดเก่ารักษาการณ์ไปโดยไม่มีกรอบเวลาชั่วนิรันดร์ จนกว่าจะมี สว.ชุดใหม่เข้ามา
“ไอลอว์” มองระเบียบคลุมเครือ
ด้านนายรัชพงษ์ กล่าวว่า กรณีการร้องศาลปกครองมีการฟ้องระเบียบ กกต.ไม่ชอบด้วย พรป.เลือก สว.และรัฐธรรมนูญ แต่ระเบียบนี้เป็นโอกาสให้มีการฮั้วอย่างมาก หรือกรณีขั้นตอนการแนะนำตัวด้วยกัน ผู้สมัครจะรู้ได้อย่างไรว่าใครจะสมัครหรือไม่ ยังไม่นับการเลือกไขว้กัน ยกตัวอย่าง ถ้าผู้สมัครมีอาชีพศิลปินและข้าราชการ จะทำให้ผู้สมัครรู้จักกันหรือไม่ ดังนั้นยิ่งระเบียบคลุมเครือก็ทำให้ประชาชนไม่อยากมีส่วนร่วมในการเลือกครั้งนี้
”ไอลอว์พยายามจำลองขั้นตอนการเลือกออกมาก็พบว่า หากคนที่มีอิทธิพลก็สามารถพาคนไปคัดเลือกได้ หรือต้องเป็นคนมีชื่อเสียงก็จะมีโอกาสที่คัดเลือกเข้าไปได้ หรือต้องเป็นคนถูกคัดเลือกได้ก็ต้องเป็นคนที่ดวงดีมากๆ“นายรัชพงษ์ กล่าว
เปิดเว็ปไซต์ช่วยตรวจคุณสมบัติ
นายรัชพงษ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาไอลอว์เปิดเว็บไซต์ http://senate67.com เพื่อให้ผู้สนใจว่าตรวจสอบข้อมูลว่ามีคุณสมบัติในการสมัคร สว.หรือไม่ นอกจากนี้จะพยายามแก้ไขการฮั้วเพื่อให้คนไม่มีพวกที่จะชนะได้หรือไม่ จึงมีเว็ปไซต์ขึ้นมาให้คนมาประกาศตัวได้ว่าตัวเองเป็นใครทั้งในกลุ่มตัวเองและกลุ่มอื่น โดยใช้คุณสมบัติตัวเองเข้าสู้กับการจัดตั้งกันมา
“เรื่องเว็ปไซต์เราไม่ได้คิดคนเดียว เพราะเคยไปนั่งอ่านรายงานการประชุมของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ก็พบว่าในกรรมาธิการยกร่างชุดนี้ ก็คิดตรงกันว่าให้มีเว็ปไซต์สำหรับให้ผู้สมัคร สว.มาประกาศตัวกันได้ด้วย เพื่อให้ประชาชนรับทราบและให้ผู้สมัครได้รู้จักกัน”นายรัชพงษ์ กล่าว
รอดูคำสั่งศาลปกครอง
นายรัชพงษ์ กล่าวต่อว่า ไอลอว์พยายามศึกษาระเบียบ กกต.และตีความเพื่อไม่ให้มีการคุมเครือว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้ แต่หากศาลปกครองยกคำร้องทางไอลอว์ก็จะทำในสิ่งที่เราทำได้ สมมติระเบียบ กกต.ฉบับนี้ยังอยู่ ก็ต้องมาตีความว่ามีสิ่งใดที่ระเบียบไม่ได้บอกไว้ ดังนั้นถ้าไม่มีอะไรห้ามไว้ก็ย่อมทำได้
“เมื่อดูระเบียบแนะนำตัวพบว่า ด้านแรกเป็นเนื้อหาว่าทำอย่างไรได้บ้างก็พบว่า จะแนะนำตัวได้อย่างเดียว แต่จะหาเสียงไม่ได้ ซึ่ง กกต.บอกว่าการหาเสียงคือการสัญญาว่าจะให้ซึ่งเป็นเรื่องอนาคต ส่วนการแนะนำตัวเป็นเรื่องของอดีตที่เคยทำมาว่าอย่างไร”นายรัชพงษ์ กล่าว
จับตากระบวนการ ”ฮั้ว“
นายรัชพงษ์ กล่าวว่า กกต.บอกว่าแนะนำตัวให้ผู้สมัครกันเองอย่างเดียวเท่านั้น ก็มีคำถามว่าแล้วผู้สมัครจะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นผู้สมัครบ้างในแต่ละอำเภอ ก็จะเป็นการสนับสนุนให้ผู้สมัครที่รู้จักกันนำไปสู่การฮั้วกันหรือไม่ ทั้งที่ควรให้มีการแนะนำตัวสาธารณะ แล้วผู้สมัครจะไปชนะคนที่ฮั้วกันได้อย่างไร
“ดังนั้นเป็นเรื่องยาก ถ้าไปสมัครเยอะกระจายตัวทุกกลุ่ม ถ้าต้องทำให้เกมนี้ออกมามีประชาชนในสมการมากที่สุด ก็ต้องทำให้คล้ายการเลือกตั้งมากที่สุด โดยต้องไปสมัครเพื่อไปไม่ว่าจะประสงค์เพื่อโหวตเท่านั้น”นายรัชพงษ์ กล่าว
นายรัชพงษ์ กล่าวด้วยว่า ถ้ามีผู้สังเกตการณ์เข้าไปจะถือว่าเป็นเรื่องดี ให้นึกว่าไปช่วย กกต.ทำงาน เพื่อไม่ให้มีการทักท้วงในภายหลังเพื่อเพิ่มความโปร่งใส จึงขอให้ กกต.ชัดเจนในส่วนนี้ด้วย
รอดูคำสั่งศาลฯหาข้อยุติ
ขณะที่นายเสรี กล่าวว่า ตามหัวข้อในการเสวนาครั้งนี้ที่บอกว่า “เลือก สว.กติกาใหม่ ใครได้ใครเสีย ?” ตนมาวันนี้ไม่ได้ทั้งได้และทั้งเสีย แต่มาแสดงความคิดเห็นในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ เพราะในกติกาในการคัดเลือก สว.ตามสาขาอาชีพนั้น คือกติกาที่แตกต่างไปจากการเลือก สส.หรือ สว. ซึ่งรัฐธรรมนูญบอกว่าเป็นผู้แทนชาวไทย ทำให้การได้มาก็เป็นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ส่วนเรื่องการยื่นฟ้องศาลปกครองก็ขอให้ฟ้อง เพราะความเห็นที่ต่างกันก็ต้องหาข้อยุติ เพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าระเบียบที่ กกต.ออกมาเป็นอย่างไร และการที่ไอลอว์มาประชาสัมพันธ์ต่างๆ ก็ทำให้ กกต.อาจจะเปลี่ยนใจก็ได้
นายเสรี กล่าวต่อว่า หวังว่า กกต.จะดำเนินการคัดเลือก สว.ให้เสร็จ เพื่อไม่ให้มีการบอกว่า สว.ชุดปัจจุบันจะอยู่นาน จริงๆไม่ควรคิดแบบนี้ กกต.ควรทำให้เป็นระเบียบและถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้คนดีๆ คนเก่งๆ คนใหม่ๆ เข้ามาทำหน้าที่ตามกฎหมายและกติกาของบ้านเมือง ส่วนเรื่องการฮั้วถ้าตนประเมินก็มีโอกาสเป็นไปได้ แต่ไม่ทั้งหมด อาจจะเกิดแค่บางกลุ่มที่รู้เห็นเป็นใจกันและให้คะแนนกันเอง
เตือนอย่าทำผิดกฎหมาย
นายเสรี กล่าวว่า ระเบียบ กกต.ที่ออกมาก็ต้องไปดูว่ามีสิ่งใดห้ามทำ เพราะหากทำก็จะผิดระเบียบหรือกฎหมายตามมาในแต่ละฉบับของ กกต.ที่กำหนดไว้ ส่วนหลายคนที่ไปรณรงค์ก็ไม่ขัดข้องเพื่อให้เกิดการตื่นตัว แต่ถ้าเปิดบรรยายให้ความรู้เป็นที่รู้จักกันอาจถูกหยิบยกทำให้เกิดการไม่สุจริตขึ้นมา จนประกาศ สว.ชุดใหม่ไม่ได้ ก็อย่าทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้เพราะบ้านเมืองจะวุ่นวาย
“ผมมองว่าการเลือก สว.ต้องดูความเป็นจริงของการเมืองและกระบวนการได้ สว.เข้ามา เพื่อให้ได้ตัวแทนประชาชนที่เลือกกันเองของผู้สมัคร แต่ในความเป็นจริงในเวลาจำกัดจะหาคะแนนอย่างไร แต่การเลือกตั้ง สส.หรือสว. คนที่มาสมัครต้องดูว่ามีชื่อเสียงแบบไหนถ้าเป็นชื่อเสียงไม่ดี ผมเชื่อว่าไม่มีใครเลือก ดังนั้นคนที่เข้ามาไม่ว่าจะระดับใดต้องเป็นคนรู้จัก เป็นคนที่ทำความดี เข้าวัดเข้าวา เป็นคนดูแลสังคม คนกลุ่มนี้คนคือที่ได้คะแนน”นายเสรี กล่าว
รับรองก่อน-สอยภายหลัง
นายเสรี กล่าวด้วยว่า ในกรรมาธิการที่ตนเป็นประธาน ก็มีการพูดกันมาตลอดว่า การได้ของ สว.ชุดใหม่อยากเห็นแบบสุจริตและสำเร็จโดยเร็ว ส่วนการทำหน้าที่รักษาการณ์ถ้าเป็นไปได้ก็อย่าให้เกิดขึ้น โดยเข้าใจว่า กกต.จะรับรองก่อนแล้วไปสอยที่หลัง เพราะต้องมี สว.ชุดใหม่มาทำหน้าที่ แต่ขอว่าอย่ามีการรณรงค์อย่างเดียวว่าจะไปแก้รัฐธรรมนูญ เพราะคนเป็น สว.ต้องอิสระเป็นตัวของตัวเอง และอย่าไปทำในสิ่งไม่ดี ซึ่งตนยึดแบบนี้มาตลอด
“การได้มา สว.ชุดใหม่อาจยุ่งยากซับซ้อน แต่อยู่ในวิสัยที่จะวิจารณ์ หากเห็นช่องโหว่ก็ต้องแจ้งกกต. โดยกกต.ก็ต้องใจกว้างและปรับปรุงหากคิดว่าถูกต้อง เพื่อให้การคัดเลือก สว.ลุล่วงไปด้วยดี”นายเสรี กล่าว
คาดผู้สมัครไม่ถึงหลักแสนคน
นายเสรี กล่าวด้วยว่า จากค่าสมัคร สว.จำนวน 2,500 บาท จึงไม่คิดว่าจะมีผู้มาสมัครเป็นจำนวนมากถึงหลักแสน ส่วนคนมีเงินก็คิดว่าไม่อยากลงสมัครเพราะกลัวถูกร้องเรียน ก็ทำให้แต่ละอำเภอและสาขาอาชีพอาจจะไม่ครบ แต่จะมีผู้สมัครจำนวนมากคือมีพวกตัวเองเยอะก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้รอบแรก พอมาถึงการเลือกไขว้ก็คิดว่าคนที่จะเสียเงินไปสมัครเพื่อเลือกคนอื่นอาจจะได้เลือกเพียงรอบเดียว
สว.ชุดเก่าหมดอำนาจเลือกนายกฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายการเสวนา ผศ.ดร.ปริญญา ได้สอบถามไปถึงนายเสรีว่า หากมีเรื่องสมมุติเกิดขึ้นจากที่ กกต.ไม่สามารถประกาศรายชื่อ สว.ชุดใหม่เสร็จทันวันที่ 2 ก.ค.67 ได้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ให้อำนาจ สว.โหวตนายกฯได้ถึงวันที่ 10 พ.ค.67 จะเป็นไปได้หรือไม่จะมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญว่า สว.รักษาการณ์จะมีอำนาจในการโหวตนายกฯหรือไม่
นายเสรี ได้กล่าวว่า ถ้าดูตามตัวอักษรก็กำหนดชัดเจนว่าการเลือกนายกฯ ของสว.ชุดเดิมจะมีอำนาจแค่ 5 ปี ดังนั้น สว.ไม่มีอำนาจแล้ว แต่จะมีใครไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญว่า สว.มีอำนาจหรือไม่ ก็มีแต่การพูดกัน และตนไม่รู้ว่าใครจะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญตรงนี้
จากนั้น ผศ.ดร.ปริญญา ระบุว่า หาก กกต.ประกาศผลไม่ทันก็จะมีเรื่องตามมา แต่หาก กกต.รับฟังเสียงจากหลายฝ่ายก็เชื่อว่า กกต.จะสำเร็จได้เริ่มจากการปรับปรุงระเบียบของ กกต.ฉบับนี้
///////////
ข่าวอัพเดท