ปูลาโต๊ะบีซู...ที่นี่คือเกาะหัวใจเกื้อกูล
วันศุกร์ ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2567
การดู : 305

แชร์ :
เปิดงานวิจัยทุน บพข. ส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ ด้วยทุนทรัพยากรในชุมชน จากโจทย์ใหญ่เป็นหนี้ผูกพันยันลูกหลาน จับปลาสดได้ต้องขายหมด เปลี่ยนเป็นแปรรูปขายออนไลน์
ผศ.ดร.ธมยันตี ประยูรพันธ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (มนร.) นักวิจัยจากโครงการการวิจัย การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Enterprises) บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ สนับสนุนโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ใช้พื้นที่บนเกาะปูลาโต๊ะบีซู ต.ศาลาใหม่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เป็นพื้นที่วิจัย โจทย์วิจัยคือทำอย่างไรจะส่งเสริมอาชีพให้คนในชุมชน โดยทุนทรัพยากรของชุมชนที่มีสร้างรายได้ ลดหนี้สิน
ชุมชนบ้านปูลาโต๊ะบีซู ด้านหนึ่งติดอ่าวไทย อีกด้านติดแม่น้ำตากใบห่างจากฝั่งประมาณ 500 เมตร ใช้การขนส่งทางเรือ บนเกาะไม่มีแหล่งน้ำจืด ผู้ชายประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน กลุ่มผู้หญิงว่างงานเกือบ 90% ส่วนอีก 10% ออกไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียหรือทำงานนอกพื้นที่
“ชุมชนบ้านปูลาโต๊ะบีซูมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์มาก แต่คนในชุมชนขาดโอกาสในการสร้างรายได้ ขาดโอกาสการพัฒนาองค์ความรู้ ไม่มีองค์กรไหนเข้ามาในพื้นที่ มีความยากจน บางคนมีหนี้สินตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อรุ่นแม่ จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานก็ยังไม่หมด โจทย์คือทำอย่างไรให้เกิดรายได้กับแม่บ้าน โดยใช้ศักยภาพหรือทรัพยากรท้องถิ่นที่มีอยู่”
นักวิจัยรวมกลุ่มแม่บ้านชาวประมงที่มีหนี้และไม่มีหนี้สิน ไปต่อรองกับนายทุน จากเคยขายปลาให้นายทุน 100 % เป็นขอแบ่งขายให้ 50 % อีก 50% ให้กลุ่มแม่บ้านที่สนใจเข้าร่วมวิสาหกิจชุมชนแปรรูป ขายออนไลน์ โดยกลุ่มรับซื้อปลาสดมาแปรรูป
ผศ. ดร.ธมยันตี กล่าวว่าเดิมมีห่วงโซ่เดียว ชาวประมงขายให้นายทุน นายทุนนำไปขายในพื้นที่ นักวิจัยจึงไปขอความร่วมมือ ชาวบ้านแบ่งปลามาแปรรูปเพราะระหว่างชาวบ้านกับนายทุนมีสัญญาใจและบุญคุณต่อกัน แม้ปลดหนี้ได้แล้ว ก็ยังขายให้นายทุน เพราะหากไม่มีเงิน ก็ไปหยิบยืมได้
กลุ่มแม่บ้านแปรรูปปลาสดที่มี เป็นผลิตภัณฑ์ปลากระบอกแดดเดียว ปลากุเลาเค็ม มีการควบคุมคุณภาพจากนักวิจัยและการบูรณาการศาสตร์จากสาขาวิชาต่างๆ เช่น อาหารและโภชนาการ วิศวกรรมศาสตร์ การตลาด การทำแพคเกจจิ้ง ขายออนไลน์ผ่านเพจเฟซบุ๊ค “บ้านปูลาโต๊ะบีซู” ใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า “เกาะหัวใจบ้านปูลาโต๊ะบีซู”
“ปลาเค็มของที่นี่ ใช้น้ำทะเลที่ผ่านการกลั่นมาดองทำให้ไม่เค็มโดด เพราะทราบว่าเท่าไรถึงจะพอดี ตากแดดในมุ้งป้องกันแมลง กันลมทะเลที่พัดเข้ามา มีส่วนทำให้รสชาติปลาดีขึ้น เน้นการรักษามาตรฐานทั้งเรื่องคุณภาพสินค้า ราคา รสชาติ ความสะอาด คือสิ่งสำคัญที่ลูกค้าจะกลับมาซื้ออีก ถ้าไม่มีคุณภาพจะโดนลดทอนคุณค่า กลุ่มแม่บ้านต้องช่วยกันคงคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน”
น.ส.รูฮานี ยูโซ๊ะ (กะนี) นวัตกรชุมชน ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปเกาะหัวใจเกื้อกูล กล่าวว่า งานวิจัยช่วยยกระดับชีวิตของกลุ่มแม่บ้านให้ดีขึ้น จากไม่มีงานทำ ก็ปลดหนี้สิน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
“อาจารย์นักวิจัยเปลี่ยนวิธีคิดจากที่ได้ปลามา เราขายเลย ซึ่งได้ราคาไม่สูง ผู้หญิงก็เป็นแม่บ้าน ไม่ได้ออกไปหางานทำข้างนอก อาจารย์แนะนำให้รวมกลุ่มแม่บ้าน นำปลาบางส่วนมาแปรรูปใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านบวกกับงานวิจัยใช้ในขั้นตอนการผลิต แปรรูป ขายตามช่องทางต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ติ๊กต๊อก มีลูกค้าที่สนใจทั้งในและต่างประเทศ ครอบครัวก็มีรายได้เพิ่มขึ้น”
ปัจจุบัน ชุมชนบ้านปูลาโต๊ะบีซู เกิดการสร้างงานและพัฒนาผู้ประกอบการ 25 กลุ่ม ครอบคลุม 39 ครัวเรือน หนี้สินครัวเรือนลดลง 5% กระจายรายได้เพิ่มขึ้น 15 % เปลี่ยนจากนายทุนเป็นการเกื้อกูลในพื้นที่ ปลูกฝังค่านิยมร่วมแบ่งปันผลประโยชน์เกื้อกูลและปลูกจิตสำนึกรักถิ่น
ข่าวอัพเดท

แจงผลวิจัยสารหนูพบปลาแค้แม่น้ำกกมีโลหะปนเปื้อน
วันจันทร์ ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

จันทบุรีผนึกภาครัฐ-เอกชน สร้างพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดภัยไร้แอลกอฮอล์
วันจันทร์ ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

เจริญนครอุ่นใจ สปสช.จัดคลินิก 30บาทรักษาทุกที่กลางชุมชน
วันจันทร์ ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

เริ่มแล้ว!! มหกรรมสินค้าไอทีกลางปี COMMART UNLIMIT
วันศุกร์ ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

สวพส. จัดการน้ำบนพื้นที่สูง…เปลี่ยนวิถีชุมชน…สู่ความมั่นคงทางอาหารยั่งยืน
วันศุกร์ ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

ทีมวิจัยระดมทีมเฝ้าระวังน้ำท่วมเชียงราย-น่าน
วันพฤหัส ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
