NIRความสุกวัดได้ที่เปลือก เนียร์อินฟราเรดสเปกโตรสโกปี
วันเสาร์ ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2567
การดู : 463
แชร์ :
เปิดตัวศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) ”เนียร์อินฟราเรดสเปกโตรสโกปี” เทคโนโลยีวัดความสุกแก่ผลไม้แทนการประเมินด้วยสายตา สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าส่งออก แจงเอกชนสั่งนำเข้าเครื่องมือมาใช้เองไม่ได้ผล เพราะต้องทำสมการเฉพาะตามชนิดผลไม้และแหล่งเพาะปลูกเพื่อความแม่นยำ
เมื่อวันที่ 8 มี.ค.67 นางสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ แนะนำศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ โดยผู้เชี่ยวชาญ สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประกอบด้วย รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ รศ.ดร.รณฤทธิ์ ฤทธิรณ หัวหน้าห้องปฏิบัติการ Near Infrared (NIR) Technology คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , ศ.ดร.อนุพันธ์ เทอดวงศ์วรกุล ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
โดย รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาทได้บรรยายเรื่องการประยุกต์ใช้เทคนิคเนียร์อินฟราเรดสเปกโตรสโกปี เพื่อวัดความสุกแก่ของผลไม้ เครื่อง NIR เป็นการยิงคลื่นพลังงานสแกนผลไม้ที่ต้องการด้วยคลื่นอินฟราเรด จากนั้นวิเคราะห์คุณภาพทางเคมี เมื่อได้ค่าทั้ง 2 ส่วน จึงนำมาคำนวณสมการโดยใช้โปรแกรมคำนวณทางคณิตศาสตร์ สร้างสมการ แล้วจึงนำไปทำนายตัวอย่างต่อไปได้
รศ.ดร.พีระศักดิ์ อธิบายการทำงานของ NIR เป็นการดูดกลืนแสงช่วงใกล้อินฟราเรด (Near Infrared) ของโมเลกุลที่ต่างกัน แล้วนำมาวิเคราะห์หลายตัวแปรและการคำนวณทางสถิติ ซึ่งใช้การวิเคราะห์เชิงปริมาณและควบคุมหรือประกันคุณภาพมาตรฐานของสินค้า โดยไม่ทำลายตัวอย่างผลไม้ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้กันแพร่หลายในต่างประเทศและใช้ได้ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม วิเคราะห์ผลได้อย่างรวดเร็ว บางชนิดอาจใช้เวลาเพียง5 วินาที ทั้งเป็นการตรวจโดยไม่ใช้สารเคมี ปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน และสภาพแวดล้อม มีความแม่นยำสูง
ผลไม้ที่นำเทคนิคนี้มาใช้แล้ว ได้แก่ ทุเรียน มะปรางหวาน มะยงชิด มะพร้าวน้ำหอม มะม่วงมหาชนก และมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง การตรวจวัดเพียงนำเครื่องไปอยู่ใกล้ผิวเปลือกก็ทราบผลทันที โดยวัดได้ทั้งกับไม้ผลที่อยู่บนต้น หรือหลังเก็บเกี่ยวแล้วพร้อมทั้งแสดงพิกัดที่ตั้ง(GIS) เกษตรกร ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการรับซื้อผลไม้ ตลอดจนผู้สนใจ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.พิษณุโลก โทรศัพท์ 055 962 710 หรือติดตามข้อมูลที่... https://www.facebook.com/profile.php?id=100092373860105&mibextid=ZbWKwL
สำหรับผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ และแหล่งรับซื้อผลไม้ บางรายระบุว่า นำเข้ามาใช้งานแล้ว บางส่วนให้ความสนใจ แต่ยังต้องพิจารณาความคุ้มค่ากับการลงทุน
นอกจากนี้ รศ.ดร.พีระศักดิ์ แถลงว่า ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จะเข้าร่วมงาน Farm Expo (ฟาร์มเอ็กซ์โป) ในระหว่างวันที่ 3-6 ตุลาคม 2567 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา ฮอลล์ EH 98-99 เพื่อเผยแพร่เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร และจัดเสวนาวิชาการ “การปรับตัวของเกษตรกร และผู้ส่งออกภายใต้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงกรณีศึกษาทุเรียนและมะม่วงต่อไป
ข่าวอัพเดท