นวัตกรรมเลี้ยงหอยนางรมตะกร้าเดียวได้500ตัว
วันอาทิตย์ ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567
การดู : 102
แชร์ :
เปิดนวัตกรรมล้ำ นักวิจัย มทร.ศรีวิชัย ทุน บพท. เลี้ยงหอยนางรมตะกร้าเดียว 500 ตัว มากกว่าดั้งเดิม แบบพวงอุบะแขวน 3-5เท่า ช่วยชุมชนชายฝั่งตรัง ผลิต จำหน่ายเพิ่ม สนองผู้บริโภค ลดการนำเข้า เผยคนไทยกินหอยปีละ 4 หมื่นตัน
ผศ. ดร.สุพัชชา ชูเสียงแจ้ว อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ศรีวิชัยวิทยาเขตตรัง หัวหน้าโครงการเลี้ยงหอยนางรมในชุมชนชายฝั่งภาคใต้ เปิดเผยงานการถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้การเลี้ยงหอยนางรม ผลงานวิจัยล่าสุด เรื่องการพัฒนาระบบการเลี้ยงหอยนางรมแบบความหนาแน่นสูงเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนลุ่มน้ำปะเหลียน ต.วังวน อ.กันตัง จ.ตรัง ในแผนงานนวัตกรรมพัฒนาพื้นที่เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและหนุนเสริมผู้ประกอบการชุมชนในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปะเหลียน จ.ตรัง และลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จ.สงขลา ให้กับชุมชนชายฝั่ง ซึ่งต่อยอดมาจากโครงการเลี้ยงหอยนางรมในตะแกรงพลาสติกหลายชั้น ให้สอดคล้องกับความต้องการและความสามารถของผู้ใช้งาน
เป้าหมายคือการปรับปรุงวิธีการเลี้ยงให้ทันสมัย เปลี่ยนจากตะแกรงพลาสติกหลายชั้นที่ซับซ้อน เป็นการใช้ตะกร้าร่วมกับตะแกรง ทำให้การจัดการง่าย เพิ่มผลผลิตได้ 3-5 เท่าในพื้นที่เท่าเดิม เกษตรกรทำงานสะดวก ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ เกษตรกรสามารถเลี้ยงหอยนางรมได้ถึง 500 ตัวในตะกร้าเดียวกัน เปลือกหอยเรียบสวย เนื้อหอยสมบูรณ์ ต่างจากการเลี้ยงแบบเก่าที่ทำกันมา 20 ปี แบบพวงอุบะแขวน ซึ้งได้ผลผลิตต่ำ เปลือกหอยงองุ้ม เนื้อไม่สวย
หลังจากประสบความสำเร็จในพื้นที่นำร่อง ได้ขยายไปยัง 11 ชุมชนในจ.ตรัง เน้นการพัฒนาเครือข่ายการเลี้ยงระหว่างชุมชน ทั้งการผลิตและการจัดจำหน่าย มีการจัดอบรม ติดตามผลทุกเดือน เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
“เครือข่ายชุมชน สื่อสารผ่านกลุ่ม LINE ช่วยให้เห็นความก้าวหน้าของแต่ละชุมชนได้ชัดเจน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวทางการแก้ปัญหาได้ ผู้นำชุมชนมีความกระตือรือร้น ช่วยให้เกิดความระหว่างชุมชน จึงเห็นการพัฒนาอย่างรวดเร็ว”ผศ. ดร.สุพัชชา กล่าว
โครงการเลี้ยงหอยนางรมเริ่มต้นในปี 2563 เป็นการวิจัยและพัฒนาในห้องปฏิบัติการเพื่อจัดการปัญหาการเลี้ยงหอยนางรมพื้นที่ชายฝั่ง ขยายผลไปยังชุมชนบ่อหินและบ้านแหลม เพื่อสร้างความเข้าใจและเพิ่มมูลค่าให้กับการเลี้ยงหอยนางรม ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
ผศ.ดร.สุพัชชา กล่าวด้วยว่า มีแผนขยายการผลิตหอยนางรมในโรงเพาะฟักของมหาวิทยาลัย เพิ่มจากปัจจุบันผลิตได้ปีละ 50,000 ตัว โดยโรงเพาะฟักและการผลิตเชิงพาณิชย์จะแก้ปัญหาการขาดแคลนหอยนางรมในตลาดในระยะยาว การฝึกอบรมและถ่ายทอดองค์ความรู้ ทำให้เกษตรกรดำเนินการได้เองอย่างเป็นระบบ
นายมานิต ภักดีย่อง นวัตกรชุมชน กล่าวว่า องค์ความรู้จากนักวิจัยช่วยเติมเต็มการเลี้ยงหอยนางรมได้สมบูรณ์แบบ เนื่องจากที่ผ่านมา เลี้ยงหอยนางรมเป็นอาชีพเสริมแบบลองผิดลองถูก
การบริโภคหอยนางรมในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ราว 40,000 ตันต่อปี จากกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง หอยนางรมเป็นแหล่งโปรตีน มีแร่ธาตุ วิตามินหลายชนิด มีการนำเข้าหอยนางรมจากต่างประเทศถึงปีละ 30,000 ตัน ขณะที่ผลผลิตในประเทศไม่พอตอบสนองผู้บริโภค เนื่องจากส่วนใหญ่เพาะเลี้ยงด้วยวิธีการดั้งเดิม ได้ผลผลิตต่ำ ซึ่งเป็นโจทย์ที่หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับมทร.ศรีวิชัย วิทยาลัยเขตตรัง ใช้นวัตกรรมการเพาะเลี้ยงหอยนางรม สนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่
ข่าวอัพเดท