Be Brave แอปป้องกันคุกคามทางเพศ
วันอังคาร ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2567
การดู : 244
แชร์ :
อวดงานวิจัยทุน วช.15ล้านบาท ทำแอปพลิเคชั่น Be Brave ป้องกันการกระทำความผิดทางเพศ ใช้เรียกคนที่ลงทะเบียนสำหรับติดต่อฉุกเฉินแทน 191 เผยยอดดาวน์โหลดยังน้อย แจงบนแอนดรอยด์เวิร์ก มีบั๊ก ส่วนไอ โอเอส ใช้ได้
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอผลการศึกษาและผลผลิตโครงการพัฒนาเครื่องมือที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการกระทำความผิดทางเพศในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และแนวการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่ง วช.ให้การสนับสนุน ที่โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ วันที่ 11 เมษายน 2567 โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิด ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปาฐกถาพิเศษนวัตกรรมการอุดมศึกษาเพื่อสร้างความปลอดภัยให้สังคมไทย
ดร.วิภารัตน์ กล่าวว่าความรุนแรงทางเพศเป็นปัญหาที่ไม่เลือกกลุ่มเพศ วัย เกิดได้ในทุกสถานการณ์ จำเป็นต้องได้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการแก้ไข มีกลไกสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง มีเครื่องมือป้องกันปัญหาโครงการพัฒนาเครื่องมือที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการกระทำความผิดทางเพศ ในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 พัฒนาองค์ความรู้ ทักษะเครื่องมือป้องกันการกระทำความผิดทางเพศ พัฒนาสื่อออนไลน์ให้เด็กเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดำเนินคดีให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาให้ถูกต้องและสอดคล้องกับหลักการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล สู่การลดปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยอย่างยั่งยืน
รศ.ดร.สุณีย์ กัลยะจิตร หัวหน้าแผนงานโครงการวิจัย กล่าวว่า งานวิจัยของแผนงาน มีโครงการวิจัยย่อย 3 โครงการ โดยพัฒนาองค์ความรู้และทักษะการเอาตัวรอดจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศผ่านสื่อเทคโนโลยีออนไลน์ เพิ่มประสิทธิภาพการนำแอปพลิเคชัน BeBrave ใช้ป้องกันการข่มขืน และนำเสนอแนวปฏิบัติที่เหมาะสมแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดและการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายในคดีผ่านชุดการเรียนรู้และหนังสั้น มีเนื้อหาที่สอดแทรกความรู้และทักษะในการป้องกันตนเองจากการกระทำความผิดทางเพศในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน แก่นของงานวิจัย ได้แก่ แอปพลิเคชัน BeBrave ที่พัฒนามาจนถึงปีที่ 2 มีฟังก์ชันหลักในการขอความช่วยเหลือจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ผลจากการวิจัยที่ได้จากการเก็บข้อมูลจากแต่ละภาคของประเทศไทยร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ
รศ.ดร.สุณีย์ ชี้แจงผู้สื่อข่าวว่า ช่วง2 ปีที่ดำเนินโครงการ มียอดดาวน์โหลดน้อยไม่สามารถบอกจำนวนได้ โดยให้เลือกได้ทั้งแอปสโตร์ ระบบi OS และเพลย์สโตร์ ระบบแอนดรอยด์ แต่เฟสแรกแอนดรอยด์มีบั๊ก(จุดบกพร่องในโปรโปรแกรม)มาก ทั้งไม่ได้ประชาสัมพันธ์มากขนาดนี้
สำหรับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก วช. รศ.ดร.สุณีย์ระบุว่า เฟสแรก 5 ล้านบาท ทำหนังสั้นแล้วไม่เหลือสักบาทเพราะทำยาก เฟสสอง ได้อีก 10 ล้านบาท ก็พัฒนาขึ้น สิ่งของที่ใช้เป็นแบรนด์ของเขา มีค่าใช้จ่ายมากมาย สิ่งที่ได้ไม่ใช่เพียงนี้ แต่เฟสต่อไปจะเชื่อมโยงกับหลายกระทรวง
ทั้งนี้ หนังสั้นที่สร้างหกเรื่อง กับอีเลิร์นนิ่ง เป็นการลงทุนมูลค่าสูงมาก การเผยแพร่บนแอปพลิเคชันจะได้ผลหรือไม่ก็ขึ้นกับกลุ่มคนทีใช้โทรศัพท์มือถือ แต่คุณย่า คุณยายที่อยู่ตามบ้าน การสร้างการรับรู้ด้วยหนังสั้น การกระจายเข้าสู่โรงเรียน ไม่ได้ทำแอปพลิเคชันบนมือถืออย่างเดียว
ดร.พัชราพรรณ นาคพงษ์ อาจารย์หลักสูตรอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม ภาคนานาชาติมหาวิทยาลัยมหิดล ทีมงานวิจัยผู้ร่วมพัฒนาแอปพลิเคชัน ระบุว่าแอปพลิเคชันเป็นตัวสำคัญ มีตั้งแต่เฟสที่1ถึงเฟสที่2 และกําลังจะก้าวไปสู่ระยะที่3 พัฒนาขึ้นด้วยแนวคิด คนใกล้ตัวที่สุด จะเข้าถึงให้การช่วยเหลือได้ดีที่สุด มากที่สุด การใช้หมายเลขโทรศัพท์ 191 แจ้งเหตุด่วน เหตุร้าย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ตำรวจต้องรับหลายเรื่อง การแจ้งตำแหน่งสถานที่เกิดเหตุ การช่วยเหลืออาจล่าช้า จึงพิจารณาว่าในสถานการณ์ฉุกเฉินจึงพัฒนาแอปพลิเคชันนี้ขึ้น
แอปพลิเคชันบีเบรฟ (BeBrave) ที่แสดงระหว่างการแถลงข่าว อยู่บนแอปสโตร์ แหล่งดาวน์โหลดของระบบปฏิบัติการ i OS เฉพาะโทรศัพท์มือถือตระกูลแอปเปิล สัญลักษณ์รูปนกสีเขียว เนื้อหาแนะนำการป้องกันการคุกคามทางเพศ ในรูปภาพเคลื่อนไหว (โมชั่นกราฟิก) 4 เรื่อง หมวดSexual Harassment มีหนังสั้น 2 เรื่อง ภาพเคลื่อนไหว1 เรื่อง หมวดคุกคามทางเพศ หนังสั้นมี2 เรื่อง ซึ่งซำ Sexual Harassment โดยล่าสุดพัฒนาให้มี Be Brave SOS ซึ่งต้องกรอกข้อมูลผู้ติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน และปุ่ม SOS สำหรับ กดแจ้งเหตุกับผู้ติดต่อที่ระบุไว้ และฟังชันเฟกคอลล์ เพื่อหลอกว่า มีโทรศัพท์เข้ามาหา อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบที่เพลย์สโตร์ ไม่มีแอปพลิเคชันนี้สำหรับโทรศัพท์แอนดรอยด์
ดร.พัชราพรรณ กล่าวว่า ในเฟสแรกรวมทุกอย่างไว้ โดยเฉพาะการขอความช่วยเหลือ แต่การวิจัยระยะที่สองพบว่า การมีข้อมูลรวมไว้มาก การขอความช่วยเหลือจะไม่ทัน มีหนังสั้นเนื้อหาเป็นข้อมูลภาษาไทยเกี่ยวกับอาชญากรรม การล่วงละเมิดทางเพศ การเผยแพร่บนแอปพลิเคชันอื่น เช่นติ๊กต๊อกจะหายไป จึงรวมไว้ในแอปฯ
เอกสารประชาสัมพันธ์ ของ วช. อ้างว่า ระบบ SOS BeBrave สามารถเชื่อมโยงไปยังสายด่วนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษา ซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก และศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ได้ในทันที และดาวน์โหลดได้ทั้งในระบบ iOS และ Android ในครั้งนี้ ได้ร่วมกับโรงเรียนนายร้อยตำรวจในการผลิตคู่มือแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินคดีสำหรับผู้กระทำความผิดและผู้เสียหายในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ 2 เล่ม ได้แก่ 1) คู่มือการดำเนินคดีสำหรับผู้กระทำผิดทางเพศ และ 2) แนวทางปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการให้คำแนะนำผู้เสียหายในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ผ่านระบบแอปพลิเคชันดังกล่าว อันจะนำไปสู่การลดปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน
ข่าวอัพเดท