ทำได้สตาร์ตอัป มจธ.ปั้นกระดูกเทียม3D-Printing
วันอังคาร ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567
การดู : 148

แชร์ :
ไม่ใช่แค่ฝัน “ออสซีโอแล็บส์” บริษัท Spin-off มจธ. ผลิตกระดูกเทียมเฉพาะบุคคล อุปกรณ์ช่วยผ่าตัดด้วยปัญญาประดิษฐ์ และระบบพิมพ์ 3 มิติ ได้ 1 ใน 5 ของ Unicorn Factory Thailand เข้าร่วม TechCrunch Disrupt 2024 ซานฟรานซิสโก มุ่งสู่Innovative SMEs
_0.jpg)

รายงานจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) แจ้งว่า บริษัท ออสซีโอแล็บส์ จำกัด กิจการที่ Spin-off (แยกตัว) จาก มจธ. ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ด้านเศรษฐกิจ ประเภทวิสาหกิจขนาดย่อมและวิสาหกิจรายย่อย จากเวทีนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2567 โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(NIA) (องค์การมหาชน) จากผลงานอุปกรณ์ช่วยผ่าตัดเฉพาะบุคคลด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และกระบวนการพิมพ์สามมิติ เมื่อเดือนตุลาคม และได้รับเลือกเป็น 1 ใน 5 บริษัทจาก NIA โครงการ Unicorn Factory Thailand ให้เข้าร่วมงาน TechCrunch Disrupt 2024 ที่เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน เพื่อเปิด ส่งเสริมการขยายตัว สร้างเครือข่ายธุรกิจของไทยที่มีศักยภาพในต่างประเทศ
_0.jpg)
ออสซีโอแล็บส์ เกิดจากแนวคิดของ ผศ. ดร.พชรพิชญ์ พรหมอุปถัมภ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่นำความรู้ด้านวิศวกรรมมาพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไม่เคยมีมาก่อน ได้แก่การออกแบบ ผลิตชิ้นกระดูกเทียม ด้วย 3D-Printing เป็นรายชิ้น โดยใช้ข้อมูลของคนไข้แต่ละคน ประกอบ ให้เข้ากับร่างกายของแต่ละบุคคลโดยแพทย์ผู้ให้การรักษาจะสั่งทำ โดยใช้เทคโนโลยีรูพรุนพิเศษแบบ Triply Periodic Minimal Surface (TPMS) ออกแบบอุปกรณ์การแพทย์หรือวัสดุปลูกถ่ายประเภทโลหะน้ำหนักเบา ความแข็งแรงสูง ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของกระดูก โดยโครงสร้าง TPMS รูพรุนขึ้นรูปด้วยสมการคณิตศาสตร์แบบต่างๆ

ผลงานวิจัยวัสดุทดแทนกระดูกประเภทมีรูพรุนดังกล่าว มีแนวโน้มความต้องการมากขึ้น มั่นใจว่าทำธุรกิจได้ในอนาคต จึงร่วมกับ ดร.วิกรม อาฮูยา อดีตผู้ร่วมงานและผู้มีประสบการณ์ในธุรกิจสตาร์ทอัพ จัดตั้งบริษัทออสซีโอแล็บส์ในปี พ.ศ. 2565 ผลักดันงานวิจัยไทยที่มีศักยภาพระดับสากลต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ออสซีโอแล็บส์ ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ใช้เป็นพื้นที่ให้นักศึกษาลงมือทำในฐานะนักปฏิบัติ ผู้ช่วยหรือนักวิจัยของบริษัท นอกเหนือจากประสบการณ์ในห้องเรียน เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับนักศึกษา หรือ พื้นที่สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่มีประสิทธิภาพสู่สังคม เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมของประเทศ
จุดเด่นของออสซีโอแล็บส์ คือ 1. องค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับการยอมรับระดับโลก 2. ทรัพยากร (resources) ทั้งบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์ และทักษะที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย 3. ความโดดเด่นทางด้านวิศวกรรม ทำให้ได้รับความไว้วางใจ มีหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศติดต่อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แม้ มจธ. ไม่มีคณะแพทย์
โครงการวิจัยด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาร่วมกับสถาบันต่างๆ เช่น คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ปัจจุบันมีผลงานตีพิมพ์ใน Scopus ทั้งหมด 40 เรื่อง มีการอ้างอิงมากกว่า 1,000 ครั้ง เทคโนโลยีในกลุ่มอุปกรณ์การแพทย์สมัยใหม่ที่พัฒนาขึ้นได้จดสิทธิบัตร 16 ชิ้น ในหลายประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา
ผศ. ดร.พชรพิชญ์ กล่าวว่าอุตสาหกรรมทางการแพทย์ส่วนใหญ่ และอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องผ่าตัดเป็นศาสตร์ของเครื่องกล อุปกรณ์ทางการแพทย์ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ ราคาสูง ถ้าผลิตได้ในประเทศจะประหยัดเงิน และต่อยอดให้มีรูปแบบของเราใช้เองมีประสิทธิภาพดีกว่าที่นำเข้า เรามีองค์ความรู้ที่จะทำได้

“นักศึกษาที่เข้ามาฝึกปฏิบัติในออสซีโอแล็บส์ จะถูกสอนให้มีความรับผิดชอบ ให้เห็นว่าสิ่งที่ทำมีผลต่อผู้ใช้งาน ถ้าทำไม่ดีผลจะเป็นอย่างไร ซึ่งสอนกันในห้องเรียนไม่ได้ ปัจจุบันไม่มีนักศึกษาคนไหนถามว่าเรียนแล้วไปทำอะไร หรือเรียนแล้วไม่ได้ใช้ เพราะทุกคนได้ลงมือทำ ได้เห็นประโยชน์ทั้งกับคนอื่นและตนเอง สามารถนำความรู้ ประสบการณ์ไปทำเรื่องอื่นๆ เช่น ไปเป็นผู้ประกอบการ หรือ ทำ Startup ได้ แล็บนี้สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไปแล้วกว่า 25 คน” ผศ. ดร.พชรพิชญ์ กล่าว
ข่าวอัพเดท

มทร.ธัญบุรี นำ9 ราชมงคลร่วมใจ สืบสานวัฒนธรรมไทย
วันพุธ ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2568

เจาะลึกเทคโนฯนวัตกรรม ววน. รับภัยพิบัติในอนาคต
วันอังคาร ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2568

วิจัยพบกรุงเทพฯอยู่ในวงล้อม3แหล่งแผ่นดินไหว
วันอาทิตย์ ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2568

ชี้3จุดสังเกตตึกถล่มเผชิญคลื่นแผ่นดินไหวดันดินอ่อน
วันเสาร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2568

2 ช่องทางขอตรวจอาคารแผ่นดินไหว กทม. – กรมโยธา
วันศุกร์ ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568

นายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยฯ ร่วมยินดี 61 ปีเดลินิวส์
วันศุกร์ ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568
