ปี2FIBOสั่งAIใช้CCTVจับอุบัติเหตุ
วันจันทร์ ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2567
การดู : 171
แชร์ :
4 สาวนักศึกษาวิศวกรรมหุ่นยนต์(FIBO) ใช้AI สั่งกล้อง CCTV ตรวจจับ แก้ปัญหาจราจร เมืองทองธานี สนใจ ใช้งานจริง ลดภาระให้คนได้
“เคยมองAI จะมาแย่งงานมนุษย์ จึงเลือกเรียน AI ซะเลย จะได้ไม่โดนแย่งงาน” คำตอบง่ายๆ ของนิ้งชัญญาภัค ทรัพย์สวัสดิ์กุล กลายเป็นที่มาของ "CuddleCam: CCTV Security Project AI ตรวจจับอุบัติเหตุ การกระทําผิดกฎจราจร และแก้ปัญหารถติด ผลงานของทีม Teletubbies โดย 4 นักศึกษาสาว ชั้นปีที่ 2 สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่คว้ารางวัลชนะเลิศ Muang Thong Hackathon 2024 จัดขึ้นเป็นครั้งแรกกลางปี 2567 ที่ผ่านมา และยังต่อยอดไปใช้จริงในเมืองทองธานีอีกด้วย
นิ้ง บอกว่า เธอและเพื่อน อีก 3 คน ณัชณศา เลิศมหากูล (อายจัง) บัซลาอ์ ศิริพัธนะ (บัซ) และนันท์นภัส นันทพรนิชา (ติ๊ก) เลือกหัวข้อนี้เพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่อาศัยในเมืองทองจริงๆ
“โจทย์ คือใช้ AI ทำให้คุณภาพชีวิตของคนในเมืองทองดีขึ้น ก่อนจะสมัคร ก็เข้าไปดูปัญหา ความต้องการของเมืองทองธานี ผู้พักอาศัยใช้ชีวิตในเมืองทองผ่านโลกออนไลน์ พบว่าการจราจรและอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นปัญหาสำคัญที่เจอเป็นประจำ ทีมจึงนำ AI มาทำให้กล้อง CCTV ในเมืองทองมีความสามารถถตรวจจับ แจ้งเตือนอุบัติเหตุบนถนนให้ผู้รับผิดชอบรับรู้อย่างรวดเร็ว”
เอกสารสรุปโครงงานย่อที่ส่งเข้าพิจารณารอบแรก 75 ชิ้น จาก 30 มหาวิทยาลัย ทีม Teletubbies เป็นหนึ่งใน 13 ชิ้น ที่เข้ารอบสุดท้าย
“โครงการพาดูเส้นทาง แยกสำคัญๆ ให้ข้อมูลจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย รูปแบบการทำผิดกฎจราจร เช่น จอดรถในที่ห้าม จอดซ้อนคัน บอกตำแหน่งของกล้อง CCTV ในจุดสำคัญๆ ดูการทำงานในห้องควบคุม CCTV ที่ใช้คนติดตาม แจ้งสถานการณ์จราจรตลอดเวลา เรามั่นใจว่า AI จะลดภาระให้เจ้าหน้าที่ การแจ้งอุบัติเหตุ วิเคราะห์สภาพการจราจรรวดเร็ว ถูกต้องมากขึ้น หมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตรงกับโจทย์ Smart City ที่กำหนดไว้” บัซลาอ์ หรือบัซ กล่าว
ในขั้นการทำ MVP (Minimum Viable Product) ชิ้นงานแบบย่อ เพื่อใช้ประกอบการนำเสนอกับคณะกรรมการตัดสินรอบสุดท้าย ติ๊ก หรือ นันท์นภัส บอกว่า ไม่ได้เสนอไอเดียอย่างเดียว แต่นำต้นแบบ AI ที่วิเคราะห์การเกิดอุบัติเหตุรถยนต์กับรถยนต์จากภาพนิ่ง ตัวอย่างหน้าจอสำหรับการแจ้งผลการวิเคราะห์ให้กับ user ตัวเลขการทำ Business Canvas (แผนภาพธุรกิจ) มีความคุ้มค่าสูง เพราะลงทุนเฉพาะ Software ระบบกล้อง CCTV แทบจะไม่ต้องลงทุนเพิ่ม หรือจะเปลี่ยนไปใช้กล้องใหม่ทั้งหมด ก็ยังคุ้มอยู่ดี
จากจุดเด่นข้างต้น ทางเมืองทองจึงเซ็นสัญญากับทีม Teletubbies ให้พัฒนา MVP สู่ระบบ AI วิเคราะห์อุบัติเหตุจราจรเพื่อทดลองใช้จริงกับเมืองทองธานี โดย ณัชณศา หรือ อายจัง กล่าวว่า “นอกจากให้ AI วิเคราะห์อุบัติเหตุบนถนน วิเคราะห์การจอดทับเส้นทึบหรือจอดซ้อนคัน ด้วยภาพจากกล้อง CCTV แบบ real time มีภาพหลายหมื่นไฟล์ให้ AI ได้วิเคราะห์ เรียนรู้ รวมถึงการเพิ่มฟังก์ชันอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์กับเจ้าของพื้นที่ การประเมินรถติด การตรวจนับ จำแนกชนิดของรถที่ใช้ถนนร่วมกัน ลดภาระงานของเจ้าหน้าที่แล้ว ยังใช้วางแผนระยะยาวได้อีกด้วย
ดร.รัตนชัย รมัยธิติมา อาจารย์ประจำสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) ที่ปรึกษาในโครงการกล่าวว่า เป็นโปรเจกต์ที่มีองค์ประกอบของความสำเร็จครบถ้วน เพราะ AI มาแรงคนสนใจเยอะ การมอง หาไอเดียว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไร เป็นโจทย์สำคัญและท้าทายของคนยุคนี้ โดยเฉพาะคนทำงานด้านเทคโนโลยี โปรเจกต์นี้ มีศักยภาพต่อยอดได้อีกมาก เช่นการใช้กล้องตรวจวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ถนน การวิเคราะห์แยกที่มีจำนวนอุบัติเหตุมากผิดปกติ เป็นต้น
เช่นเดียวกับชัญญาภัค ที่ท้าทายความกังวลว่า AI จะแย่งงาน มาเลือกเรียน AI เพื่อใช้ประโยชน์ บัซลาอ์ ก็พูดทำนองเดียวกันว่า การเรียนที่ FIBO ทำให้พบว่า AI น่าสนใจ น่าค้นหาและนำมาสร้างสิ่งดีๆ ได้มากมาย การที่ AI ลดความผิดพลาดในการทำงานของคนได้ (human error) จึงน่าจะช่วยสร้างสังคมที่ให้ความปลอดภัยในการดำรงชีวิตมากยิ่งขึ้น
ข่าวอัพเดท