วิจัยซินโครตรอนสร้างกลไกจิ๋วพัฒนาเครื่องอ่านเบรลล์เพื่อคนตาพิการ

วันศุกร์ ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2567

การดู : 190

วิจัยซินโครตรอนสร้างกลไกจิ๋วพัฒนาเครื่องอ่านเบรลล์เพื่อคนตาพิการ

แชร์ :

วช.สนับสนุนทุนนักวิจัยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนพัฒนาเครื่องอ่านอักษรเบรลล์เพื่อผู้พิการทางสายตา ได้ชิ้นส่วนกลไกระดับจุลภาคความแม่นยำสูง

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) รายงานว่า ได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่ ดร.รุ่งเรือง พัฒนากุล นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) สานต่องานวิจัยและพัฒนาเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์เพื่อผู้พิการทางสายตาด้วยเทคโนโลยีชิ้นส่วนจุลภาค พัฒนาเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ให้มีขนาดกะทัดรัด ราคาประหยัด ใช้งานสะดวก เพื่อผู้พิการทางสายตาเข้าถึงข้อมูลและติดต่อสื่อสารมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.)เพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา สานต่อพระราชปณิธานในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต

ดร.รุ่งเรือง กล่าวว่า เครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ด้วยชิ้นส่วนจุลภาค ออกแบบเพื่อช่วยผู้พิการทางสายตา อ่านและเขียนข้อความได้สะดวก โดยใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนผลิตชิ้นส่วนกลไกขนาดเล็กที่มีความแม่นยำสูง เครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ด้วยชิ้นส่วนจุลภาค ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1. เซลล์แสดงผลอักษรเบรลล์ แต่ละเซลล์ประกอบด้วยจุดสัมผัส 6 จุด เคลื่อนที่ขึ้นลงอิสระ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของจุดสัมผัส 1.2 มิลลิเมตร ซ่อนอยู่ในเครื่องแสดงผล ควบคุมโดยกลไกขนาดเล็กภายใน วงจรอิเล็กทรอนิกส์ทำหน้าที่กระตุ้นการเคลื่อนที่ จัดเรียงจุดสัมผัสตามรหัสอักษรเบรลล์ให้ผู้ใช้จะสัมผัสและอ่านด้วยปลายนิ้ว  1 เซลล์ แสดงผล 1 ตัวอักษรเบรลล์ ดังนั้น การอ่านอักษรเบรลล์อย่างต่อเนื่องได้ต้องเรียงตัวต่อกันมากกว่า 10 เซลล์แสดงผลขึ้นไป 2. ระบบควบคุมทางอิเล็กทรอนิกส์ แปลงข้อมูลตัวอักษรเป็นรหัสอักษรเบรลล์ ควบคุมการเคลื่อนที่ของจุดสัมผัสภายในเซลล์ ประมวลผลข้อมูลจากแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์สำหรับอ่านเอกสาร เล่นเพลง หรือใช้งานอินเทอร์เน็ต

หัวใจของเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์เพื่อผู้พิการทางสายตา ด้วยเทคโนโลยีชิ้นส่วนจุลภาค คือกลไกภายในที่มีขนาดเล็ก ประกอบรวมกันเป็นชุดอุปกรณ์ที่มีการเคลื่อนที่ กลไกเหล่านี้ออกแบบและผลิตด้วยเทคนิคเอกซเรย์ลิโธกราฟีจากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน มีความแม่นยำสูง จุดเด่น คือแสดงผล 20 เซลล์ รองรับการอ่านไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ และการพิมพ์อักษรเบรลล์เพื่อบันทึกเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ในตัวเครื่อง

ดร.รุ่งเรือง พัฒนากุล

 

ปัจจุบันเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ ด้วยชิ้นส่วนจุลภาคต้นแบบจำนวนหนึ่ง ใช้งานในโรงเรียนการศึกษาคนตาบอด ในสังกัดมูลนิธิธรรมิกชน เพื่อคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการทดสอบภาคสนาม และใช้เป็นต้นแบบการศึกษาวิจัยเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ในประเทศเพื่อให้ช่างเทคนิค วิศวกรที่สนใจเรียนรู้ ร่วมพัฒนาเป็นกลุ่มวิจัยทางด้านอุปกรณ์สนับสนุนผู้พิการในประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง