25 จังหวัดระดมสมองสู่Thailand Zero Dropout แก้เด็กหลุดระบบการศึกษา
วันพฤหัส ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2567
การดู : 507
แชร์ :
กสศ.ประชุม ผู้ว่าฯ ศึกษาจังหวัด อปท. พม.สธ. 25 จังหวัดนำร่อง ตั้งเป้าให้เด็กหลุดระบบการศึกษาเป็นศูนย์ แจงได้กลับมาแล้ว 139,000 คน กรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่นตั้งเป้าพัฒนาอาชีพให้เด็กเยาวชนมีงานทำปีนี้ 2 หมื่น ปี 70 ต้องได้ 1 ล้านคน
เมื่อวันที่ 17 กค. 67 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ 11 หน่วยงาน จัดประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ที่ศูนย์การประชุมอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี มีเครือข่ายคณะทำงาน Thailand Zero Dropout ระดับจังหวัด ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ศึกษาธิการจังหวัด ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หน่วยงานด้านการศึกษา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย(พม.)จังหวัด หน่วยงานสาธารณะสุขรวม 25 จังหวัดนำร่องเข้าร่วม
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผจก. กสศ. กล่าวว่าการบูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เชื่อมโยงฐานข้อมูลของประชากรเด็กและเยาวชนทั้งหมดของประเทศ ในการค้นหาเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบ มีแนวทางการทำงานแบบบันได 5 ขั้น ขณะนี้อยู่ที่บันไดขั้นที่ 1 เริ่มจาก 25 จังหวัดที่เข้าร่วมประชุม สร้างความเข้าใจทิศทางและสนับสนุนการทำงานของผู้ปฏิบัติในพื้นที่
แนวทางการทำงานแบบบันได 5 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1สำรวจข้อมูลเด็ก Dropout พัฒนาระบบฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษารายบุคคล และพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ขั้นที่ 2 ติดตามช่วยเหลือเด็ก Dropout เป็นรายบุคคล ผ่านเครือข่ายความร่วมมือของสหวิชาชีพ ขั้นที่ 3 เด็กและเยาวชนกลับเข้าสู่การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น มีทางเลือก ตอบโจทย์ชีวิต มีนวัตกรรมการศึกษารูปแบบต่าง ๆ รองรับ ขั้นที่ 4 เด็กและเยาวชนได้รับการส่งต่อผ่านหุ้นส่วนการศึกษา เครือข่ายการเรียนรู้ในพื้นที่ การระดมทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ในพื้นที่ ขั้นที่ 5 เด็กและเยาวชนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศ
นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่าผลการดำเนินงานตามมาตรการต่างๆ เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 มีเด็กกลับเข้ามาในระบบแล้ว 139,000 คน คิดเป็น13.6% เชื่อว่าจากข้อมูลล่าสุดดังกล่าวจะเป็นกำลังใจ เป็นสารตั้งต้น ให้คนทำงานก้าวเดินต่อไปเพื่อถึงวันที่ไม่มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษา
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ประธานเปิดงาน กล่าวว่าที่ผ่านมาหลักสูตรของสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งยังไม่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ จึงต้องปรับให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาอย่างวิทยาลัยอาชีวศึกษาปฏิรูปตัวเอง จากที่ตัดผ้าโหลเป็นการตัดผ้าสำหรับบุคคล ออกแบบหลักสูตรที่ตอบโจทย์เด็กและตรงกับสถานประกอบการให้ได้มากที่สุด
นายสิริพงศ์ ยังกล่าวในการเสวนาเรื่อง มาตรการและแนวทางขับเคลื่อน Thailand Zero Dropout ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ของผู้เรียน ยกตัวอย่างที่จ.เชียงราย ครูต้องไปตามเด็ก บางคนตั้งครรภ์ก็ไปเรียนได้ เด็กคนไหนไม่พร้อม ครูก็ปวารณาตัวเองช่วยเหลือ ให้ส่งการบ้านหรือแวะเรียน มาเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มบ้าง เชื่อว่า การเข้าสถานศึกษาไม่มีอะไรที่สูญเปล่า เด็กอาจจะไม่ได้ Hard skill แต่จะได้ Soft skill สิ่งที่ควรกลับมามองคือการให้ความสำคัญกับวุฒิการศึกษามากเกินไป โดยไม่รู้เมีทักษะอะไรบ้าง กระทรวงศึกษาต้องจัดการใหม่ ให้เด็กทุกคนมีทักษะติดตัว
นายสุทธิเกียรติ วีรกิจพานิช ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่ากระทรวงดิจิทัลฯ ดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย PDPA อันเป็นเงื่อนไขสำคัญเพื่อนำไปสู่การเข้าถึงข้อมูลและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนโดยกระบวนการสังเคราะห์ข้อมูลใช้เวลาเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทยส่งข้อมูลตัวเลขเด็กกลับมา จากนั้นเข้าสู่กระบวนการจำแนกเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษารายพื้นที่ ประชุมและออกแบบวิธีดึงเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาตามความสนใจของเด็กและเยาวชนรายบุคคล หลังจากนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะพัฒนาเพลตฟอร์มเชื่อมฐานข้อมูล ให้ได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและถูกต้องมากที่สุด อำนวยความสะดวกให้ทุกหน่วยงานให้ทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น และแจ้งถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า อย่ากลัวเรื่อง PDPA มากจนเกินไป เพราะ PDPA มีข้อยกเว้นเสมอถ้าเราทำเพื่อสังคมจริงๆ
PDPA หรือ Personal Data Protection Act คือ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มีหลักการคุ้มครองสิทธิเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล เช่นควบคุมไม่ให้องค์กรนำข้อมูลไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอม
นายสุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการส่งเสริมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งการพัฒนาอาชีพให้เด็กและเยาวชนมีรายได้ระหว่างเรียน ส่งเสริมทักษะด้านกีฬาเพื่อเป็นต้นทุนให้กับเด็กและเยาวชนที่มีฐานะยากจน ให้ความสำคัญกับเด็กหลังห้อง การขับเคลื่อนงาน ทั้ง 25 จังหวัดนำร่อง ในปี 2567 ตั้งเป้าหมาย 20,000 คน ปี 2568 ตั้งเป้าหมาย 50,000 คน ปี 2569 ตั้งเป้าหมาย 500,000 คน และ ปี 2570 ตั้งเป้าหมาย 1 ล้านคน ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ .
ข่าวอัพเดท