1ทศวรรษแผ่นดินไหวแม่ลาว..เราไหวอยู่?
วันอังคาร ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2567
การดู : 226
แชร์ :
ครบ1ทศวรรษแผ่นดินไหวแม่ลาว จ.เชียงราย ความรุนแรง 6.3 วช.ร่วมกับศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ จัดรำลึกถึงที่ นำผลงานวิจัย นวัตกรรมและความรู้สู้ภัย แผ่นดินไหว เราไหวอยู่ ไปจัดถึงถิ่น 5-7 พค 67
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ มูลนิธิมดชนะภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดแถลงข่าวกิจกรรม 1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาวประกาศเจตนารมณ์ ภาคี เครือข่าย ร่วมมือ ร่วมใจ สู้ภัย แผ่นดินไหว ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โรงแรมรามาการ์เด้นส์ เมื่อเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุน ขับเคลื่อนศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH) ร่วมกับ มูลนิธิมดชนะภัย และหน่วยงานภาคีเครือที่เกี่ยวข้อง ทั้ง จังหวัดเชียงราย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรธรณี กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย จัดกิจกรรม 1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว ระหว่างวันที่ 5 – 7 พฤษภาคม 2567 ที่ จ.เชียงราย เพื่อรำลึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว สร้างความเข้าใจ ความตระหนักรู้ เตรียมความพร้อมรับมือในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว ถอดบทเรียนจากอดีตถึงปัจจุบัน เผยแพร่ผลงานวิจัยและวิชาการด้านแผ่นดินไหว พร้อมกับลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จ.เชียงราย ขับเคลื่อนสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ เพื่อเตรียมแผนในการรับมือต่อไปในอนาคต
ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผอ.ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (Earthquake Research Center of Thailand : EARTH) เป็นศูนย์รวมบุคลากรวิจัยที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว ในงานนี้จะจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหว การประชุมวิชาการเผยแพร่ผลงานวิจัยและวิชาการด้านแผ่นดินไหว รวมทั้งแสดงต้นแบบผลงานวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ร่วมกับหน่วยงานภาคีวิจัย ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ประธานมูลนิธิมดชนะภัย กล่าวว่า มูลนิธิตั้งอยู่ที่บ้านสิงหไคล จังหวัดเชียงราย เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อส่งเสริมด้านสังคมและศิลปวัฒนธรรมให้จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองที่น่าอยู่ และเมืองศิลปะ เน้นการใช้วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ ช่วยเหลือประชาชนให้ปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ มูลนิธิมดชนะภัยได้ร่วมจัดกิจกรรม เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านภัยพิบัติแผ่นดินไหว ผ่านสื่อศิลปะและวิทยาศาสตร์ ตลอดเดือนพฤษภาคมนี้ เป็นจุดเชื่อมต่อไปสู่เรื่องราวเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว ระหว่างภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อเป็นการสะท้อนให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของการจัดการ ภัยพิบัติที่ดีร่วมกัน “แผ่นดินไหว เราไหวอยู่”
นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 เป็นเหตุการณ์ที่คนเชียงรายไม่มีวันลืม กิจกรรม 1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว เป็นการรำลึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว ครบรอบ 10 ปี สร้างความตระหนักรู้ ถอดบทเรียนจากประสบการณ์ตรง ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานแผ่นดินไหวจังหวัดเชียงราย เหตุเกิดวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 เวลา 18.08 น. (เวลาประเทศไทย) เบื้องต้นพบจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณตำบลทรายขาว อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ขนาด 6.3 ความลึก 7 กม. ความรุนแรงระดับ VIII ตามมาตราเมอร์คัลลี่ ต่อมาส านักเฝ้าระวังแผ่นดินไหวได้วิเคราะห์ข้อมูลอีกครั้ง พบมีการเปลี่ยนแปลงจากตำแหน่งเดิมประมาณ 7 กม.ความลึก 7 กม.ที่ ตำบลดงมะดะ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย
เกิดความเสียหายรุนแรงหลายจุด อาทิอาคารโรงเรียนพานพิทยาคม จังหวัดเชียงราย พังทลายลงมา ถนนในอำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย มีรอยแยกขนาดใหญ่ พระพุทธรูป เมรุ ในวัดบางแห่งพังเสียหาย เกิดทรายพุ หรือตะกอนทรายผุดขึ้นหลายบริเวณ บางแห่งสูงถึง 2 เมตร บางจุดปิดตานำ ทำให้ชาวบ้านขาดแคลนน้ำเพื่อการบริโภค
สำหรับกิจกรรม 1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว ระหว่างวันที่ 5-7 พฤษภาคม 2567 ณ จังหวัดเชียงราย มีดังนี้
• วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม 2567 บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย จังหวัดเชียงราย พบการบรรยายพิเศษ “รู้ทันแผ่นดินไหว” และการเสวนา “สิบปีผ่านไป แผ่นดินไหว เราไหวอยู่” โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาวิชา และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมชมนิทรรศการพิเศษเกี่ยวกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวและการรับมือในทุกมิติ อาทิ รถจำลองแผ่นดินไหว, แผนที่เสี่ยงภัยพิบัติแผ่นดินไหวกับกิจกรรม “จำได้ไหม?-จำได้ไหว”, การพยาบาลในสถานะการณ์แผ่นดินไหว เป็นต้น (เฉพาะวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม 2567 เท่านั้น) รับชมนิทรรศการฟรีตลอดเดือนพฤษภาคม อาทิ นิทรรศการภาพเล่าเรื่อง, นิทรรศการเชิงศิลปะสะท้อนภาพเหตุการณ์, นิทรรศการเชิงวิทยาศาสตร์ ณ บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย จังหวัดเชียงราย
• วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรม The Heritage Chiang Rai พบกับการประชุมวิชาการเผยแพร่ผลงานวิจัยและวิชาการด้านแผ่นดินไหวในประเด็นต่างๆ โดย ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH: Earthquake Research Center of Thailand) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) อาทิ การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหวจากอดีตถึงปัจจุบัน, การออกแบบก่อสร้างอาคารให้ต้านทานแผ่นดินไหว, ธรรมชาติแผ่นดินไหว : ความเสี่ยง, การเสริมกำลังอาคารที่มีอยู่, การเตรียมพร้อมเผชิญเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหว (highlight), การตรวจติดตามสุขภาพโครงสร้างอาคารสูงในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย และการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมกรณีตัวอย่างเขื่อนแม่สรวยและชุมชนชนบท
• วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม 2567 พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จังหวัดเชียงราย ลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหว ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชา จุดเริ่มเต้นจาก โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โรงเรียนชุมชนบ้านป่าก่อดำ วัดดงมะเฟือง เขื่อนแม่สรวย สิ้นสุดที่ โรงเรียนศรีถ้อยสุนทรราษฎร์วิทยา
ข่าวอัพเดท