แผ่นดินไหวถี่บทเรียนที่ไทยต้องเตรียมรับมือ
วันอาทิตย์ ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2567
การดู : 449
แชร์ :
ชักถี่ แผ่นดินไหวใหญ่ นักวิจัยไทยรุดดูสภาพจริงถึงญี่ปุ่น ถอดบทเรียน เจอปัญหาซับซ้อน แรงสั่นไหว บ้านไม้ อาคารไม่แข็งแรงพังก่อน ปฐพีกลายสภาพเป็นทรายเหลว ตึกใหญ่ ไฟฟ้า ประปา วิบัติได้ สึนามิซ้ำ เตรียมข้อเสนอเฝ้าระวังลดความสูญเสียด้วยนวัตกรรม
รายงานข่าวแจ้งว่า ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH: Earthquake Research Center of Thailand) ร่วมกับ คณะอนุกรรมการผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลม วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดสัมมนา ถอดบทเรียนความเสียหายจากแผ่นดินไหว บริเวณ Noto Peninsula ประเทศญี่ปุ่น วันที่ 4 เมษายน 2567 ซึ่งช่วงเวลาเดียวกับที่เกิดแผ่นดินไหวความรุนแรง7.4ที่ไต้หวัน วันที่3เมษายน2567 และรุ่งขึ้น 4เมษายน 2567 เกิดขึ้นอีกครั้งระดับ6.1บริเวณนอกชายฝั่งฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น
ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผอ.ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ กล่าวว่า รศ. ดร. สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ หัวหน้าคณะสำรวจ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คณะนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมกันสำรวจความเสียหายจากแผ่นดินไหวขนาด 7.6 ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2024 เวลา 16:10 น. (เวลามาตรฐานญี่ปุ่น) บริเวณคาบสมุทรโนโตะ จังหวัดอิชิกาวะ ประเทศญี่ปุ่น ในพื้นที่ที่เสียหายรุนแรง เช่น อุจินาดะ (Uchinada) วาจิมะ (Wajima) อานามิซุ (Anamizu) ซูซุ (Suzu) โนโตะ (Noto) มอนเซ็น (Monzen) และ โทกิ (Togi) ทั้งนี้ แม้ผ่านไปกว่า 2 เดือนแล้ว ภาพความเสียหายจากเหตุการณ์ ยังคงอยู่ ประเทศไทยจึงร่วมศึกษาและเตรียมแผนเพื่อรับมือกับแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ศ.เป็นหนึ่ง กล่าวว่า งานสัมมนานี้ อธิบายสิ่งที่เรียนรู้เรื่องแผ่นดินไหวจากแหลมโนโตะ จังหวัดอิชิกาว่า ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา จัดเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ระดับ 7.6 ซึ่งกว่าทีมเราจะเข้าสํารวจได้ ก็เดือนมีนาคม หลังจากนั้นสองเดือน แต่ก็ได้เรียนรู้มากมาย จึงมาสรุปให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้ไปพร้อมกับเรา
การไปสํารวจเป็นเรื่องที่สําคัญของศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ จะต่างจากการอ่านข้อมูลจากภาพข่าวที่สื่อมวลชนรายงาน การเห็นด้วยตาจะเข้าใจปัญหาหลายมิติ เช่นแผ่นดินไหวที่โนโตะเป็นการไหวขนาดใหญ่ ในพื้นที่นั้นมีเหตุการณ์หลายอย่างพร้อมๆกัน มีการสั่นสะเทือนของพื้นดินที่รุนแรง ส่งผลให้ดินทรายที่เป็นดินแข็งเปลี่ยนเป็นโคลนทรายเหลว(Liquefaction) เกิดขึ้นหลายตําแหน่งทั่วพื้นที่ ทําให้เกิดสึนามิ มีผลกระทบหลายรูปแบบ บางพื้นที่มีไฟไหม้ บางพื้นที่มีการยกตัวของแผ่นดินประมาณ3 4 เมตร ไม่ใช่การยกตัวน้อยๆ การเรียนรู้จะมีผลต่อการเตรียมการรับมือที่อาจเกิดขึ้น
รศ.ดร.สุทัศน์ กล่าวถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวนอกชายฝั่งฮวาเหลียน ณ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 ที่มีขนาด 7.4 แมกนิจูด ลึก 11 กิโลเมตร รวมถึงเกาะโอกินาวาญี่ปุ่น เกิดเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 ขนาด 6.0 แมกนิจูด บริเวณนอกชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น มีจุดศูนย์กลางอยู่นอกชายฝั่งเมืองฟุกุชิมะ ลึกลงไป 40 กิโลเมตร รับรู้ถึงแรงสั่นไหวได้ถึงกรุงโตเกียว ความรุนแรงระดับ 4 จากมาตรวัดของญี่ปุ่นที่มี 7 ระดับ การสำรวจพบความเสียหายเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการสร้างมาตรการป้องกัน ลดความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นกับบริเวณประเทศไทยในอนาคต
ส่วนหนึ่งของรายงานการสำรวจความเสียหายจากแผ่นดินไหวแหลมโนโตะระบุว่า โครงสร้างอาคารและโครงสร้างพื้นฐานเสียหายจากการสั่นสะเทือนของพื้นดินที่รุนแรงมากกว่า 2.7g (g คือค่าแรงโน้มถ่วงของโลก เท่ากับ 9.8 m/s2) มากกว่าค่าที่ใช้ออกแบบอาคารปรกติ จึงเกิดผลกระทบกับอาคาร และ โครงสร้างพื้นฐานในวงกว้าง
ทั้งนี้ คาบสมุทรโนโตะ เป็นเมืองรอง ส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่น อาคารที่เสียหาย มักเป็นบ้านเรือนไม้ ซึ่งอาจไม่ได้ออกแบบรองรับแผ่นดินไหว ไม่แข็งแรงพอ ประกอบกับบางพื้นที่ เจอทั้งแรงสั่นสะเทือน การการทรุดตัวจากดินเหลว และสึนามิที่กระแทกเข้าใส่พร้อมๆ กัน จึงเสียหายอย่างมาก นอกจากนี้เมื่อเกิดแผ่นดินไหว มักเกิดเหตุไฟไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจร หรือแก๊สรั่วซึม อาคารไม้เป็นวัสดุที่ติดไฟง่าย ลุกลามได้ไว ยากในการควบคุม พบมีไฟไหม้จากแผ่นดินไหวถึง 17 แห่ง มี11 แห่งอยู่ในจังหวัดอชิกาวะ
ส่วนอาคารสมัยใหม่ โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก หรือโครงสร้างเหล็ก พบเห็นได้บ้าง เป็นความเสียหายเล็กน้อย อาคารที่เสียหายหนักๆ เกิดร่วมกับการทรุดตัวจากเกิดดินเหลว แม้อาคารจะไม่พังถล่มทันที แต่การทรุดตัวก็อาจทำให้ไม่สามารถใช้ได้อีก
สำหรับการเกิดดินทรายเหลว (Liquefaction) เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของชั้นดินทรายที่อิ่มตัวด้วยน้ำ จากแรงแผ่นดินไหวฉับพลัน มีแรงดันน้ำเพิ่ม ส่งผลให้เกิดการเหลวตัว นำไปสู่การสูญเสียการรับกำลังแบกทานของชั้นดิน ฐานรากทรุดตัว เกิดการวิบัติของอาคาร ทรายเหลวยังส่งผลต่อระบบไฟฟ้า ประปา ระบบน้ำเสีย เนื่องจากการชั้นทรายที่เหลวทำให้ ระบบ สาธารณูปโภคต่างๆ ไม่สามารถใช้งานได้ ระบบคมนาคมทางถนนในพื้นที่การเกิดทรายเหลวก็ความเสียหายไปด้วย
รายงานสรุปว่า แผ่นดินไหวโนโตะได้ให้บทเรียนที่ควรปรับใช้ให้ต่อประเทศไทย ในเรื่อง การวางแผน การศึกษาคาดการณ์สึนามิ การสร้างอาคารหลบภัยในบริเวณที่คาดว่าจะมีสึนามิ การศึกษาเส้นทาง อพยพ การศึกษาแนวโน้มการเกิดดินเหลวในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงการลดผลกระทบ มาตรการและ นโยบายในการออกแบบก่อสร้างอาคาร รวมถึงมาตรการ และแนวทางในการเสริมกำลังอาคาร ทั้งนี้แผ่นดินไหว เป็นภัยที่หลีกเลี่ยงได้ยากหากอยูในพื้นที่เสี่ยง แต่สามารถลดผลกระทบจากแผ่นดินไหว หากมีการศึกษา และกำหนดมาตรการที่เหมาะสม
ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH: Earthquake Research Center of Thailand) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2566 เป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยด้านแผ่นดินไหว สนับสนุนการดำเนินงาน โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ วช. เพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมด้วย
ข่าวอัพเดท