ล้ำ!กากปลาร้าทำผงแคลเซียมออกตลาดโลก

วันพฤหัส ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

การดู : 262

ล้ำ!กากปลาร้าทำผงแคลเซียมออกตลาดโลก

แชร์ :

น้ำปลาร้าแม่บุญล้ำ ขอทุนร่วมวิจัยกับ ม.ขอนแก่น พัฒนากากเหลือทิ้งกองใหญ่ ทำผงแคลเซียม เพิ่มโอกาสตลาดโลก กากข้าวคั่วทำซอส อีกส่วนยังทำอาหารเสริมพืชไร่ คุณค่าทัดเทียมปุ๋ยเคมี

ตัวอย่างผลิตซอสปลาร้าจากกากข้าวคั่ว

บริษัท เพชรดำฟู๊ดส์ จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจน้ำปลาร้ารายใหญ่ แบรนด์ แม่บุญล้ำ ได้ร่วมกับทีมวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ผศ.ดร. สมสมร แก้วบริสุทธิ์ อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิจัยและพัฒนาเพิ่มมูลค่าให้กับกากปลาร้าเหลือทิ้ง เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มแคลเซียมจากผงกระดูกปลาจากกากปลาร้า ปรับปรุงคุณภาพด้วยเทคโนโลยี เพื่อให้น้ำปลาร้ามีแคลเซียมเพิ่มขึ้น มีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าทั่วไป ผู้ประกอบการนำไปใช้อ้างถึงคุณสมบัติน้ำปลาร้าเสริมผงกระดูกปลาเป็นผลิตภัณฑ์แคลเซียมสูงได้ รวมถึงมีการวิจัยเพิ่มเติม ป้องกันผงกระดูกปลาไม่ให้ตกตะกอนที่ก้นขวด สะดวกแก่ผู้บริโภค ไม่ต้องเขย่าขวดก่อนใช้ สร้างความได้เปรียบทางการตลาดกับผู้ประกอบการ เพิ่มโอกาสในการแข่งขันในตลาดโลก

ารทดลองเติมผงกระดูกปลาเพื่อเสริมแคลเซียม

พิไรรัตน์ บริหาร กรรมการผู้จัดการ บริษัทเพชรดำฟู้ดส์จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีกากปลาร้าเหลือจากกระบวนการผลิตจำนวนมาก ได้ปรึกษากับ ผศ.ดร.สมสมร ถึงการใช้ประโยชน์จากกากของเหลือ นำไปวิเคราะห์ที่สถาบันอาหารตรวจหาโปรตีนและแคลเซียม คิดค้นเทคโนโลยีปรับปรุงกากก้างปลาร้าเหลือทิ้งจากการผลิต ทำเป็นผงแคลเซียมผสมในน้ำปลาร้าอย่างเหมาะสม ไม่ตกตะกอน

พิไรรัตน์ บริหาร

ก่อนหน้านี้ บริษัทกำจัดกากโดยทำปุ๋ยและฝังกลบ แต่เมื่อผลิตมากขึ้นของเหลือ (Waste) ก็มากตามไปด้วย การวิจัยและพัฒนาครั้งนี้ ได้ยื่นขอทุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)  โดยมีโครงการย่อยที่ 1 ตั้งสายการผลิตใหม่เป็นผลิตภัณฑ์ตัวเลือกกับผู้บริโภคในยุคสังคมผู้สูงอายุ และมีแผนพัฒนาน้ำปลาร้าสูตรโซเดียมต่ำตอบรับกระแสการรักษาสุขภาพของผู้บริโภคในปัจจุบัน

กากปลาร้าเหลือทิ้งจากการผลิตน้ำปลาร้า

งานวิจัยเดียวกัน ยังมีโครงการย่อยที่ 2 โดย ผศ. ดร. อัมพร แซ่เอียว นำกากปลาร้าผลิตเป็นซอสน้ำปลาร้าอเนกประสงค์จากกากข้าวคั่ว ที่เหลือจากกระบวนการผลิต ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ใช้ประกอบอาหารได้หลากหลายขึ้น ทดสอบรสชาติและการยอมรับจากผู้บริโภค ศึกษาวิธียืดอายุน้ำปลาร้าอเนกประสงค์ให้เก็บได้ยาวนาน รองรับการส่งออกต่างประเทศ รวมถึงการฆ่าเชื้อ และการปรับสภาวะความเป็นกรด ด่างของผลิตภัณฑ์ ตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภค

โครงการย่อยที่ 3 โดย รศ.ดร. สุภาภรณ์ พวงชมพู นำกากปลาร้าผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อการปลูกพืชเศรษฐกิจ ทดลองศึกษากับพืชไร่ระยะสั้น จำพวก ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ปลูกกันมากในจังหวัดกาฬสินธุ์ ทีมวิจัยได้พัฒนาสูตร ได้น้ำหมักชีวภาพจากกากปลาร้าคุณภาพสูง มีค่าธาตุอาหารหลักเทียบเคียงหรือสูงกว่ามาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์เหลว ให้ผลผลิตที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับการใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว..

ปรียบเทียบมันสำปะหลังอายุ 3 เดือนที่ใช้น้ำหมักกากปลาร้า

ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน บพข. กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับของเหลือในอุตสาหกรรม เพื่อลดขยะและลดคาร์บอนจากกระบวนการผลิตได้เป็นอย่างดี มีเป้าหมายให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 41,200,000 บาท/ปี และการใช้กากปลาร้า 222 ตัน/ปี ทั้งนี้ อุตสาหกรรมน้ำปลาร้าของไทยเติบโตอย่างมาก ของเหลือจากอุตสาหกรรมน้ำปลาร้าก็มากขึ้น หากไม่มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จะเกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม โครงการนี้ผู้ประกอบการ มีความพร้อมนำผลงานวิจัยไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ เป็นการสร้างแรงกระเพื่อมที่สำคัญของวงการน้ำปลาร้า เพื่อให้ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ หันมาให้ความสำคัญกับการทำวิจัยและพัฒนา( R&D) ยกระดับอุตสาหกรรมน้ำปลาร้าของไทย  

ข่าวแจ้งว่า งานวิจัยดังกล่าว นอกจากเพิ่มโอกาสการแข่งขันกับบริษัทเอกชนผู้ร่วมลงทุน ยังขยายผลสู่อุตสาหกรรมอื่นได้ เช่น อุตสาหกรรมมันสำปะหลัง โดยบริษัท เอเซียโมดิไฟด์สตาร์ช จำกัด โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังรายใหญ่ในจ.กาฬสินธุ์ ได้เข้าร่วมทดลองปลูกมันสำปะหลังโดยใช้น้ำหมักชีวภาพจากกากปลาร้าที่พัฒนาขึ้น ทั้งยังส่งผลต่อเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกมันสำปะหลังและข้าวโพด ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ย ผลผลิตที่ดีขึ้น คุณภาพดินและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น จากการลดการใช้ปุ๋ยเคมี

บริษัท เพชรดำฟู๊ดส์ จำกัด เป็นผู้เล่นรายใหญ่ของอุตสาหกรรมน้ำปลาร้า มีส่วนแบ่งทางตลาดกว่า 50% ผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายในประเทศ 90% ส่งออก 10% และมีแผนที่จะขยายตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้คุณภาพมาตรฐาน มีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องจึงจำเป็น การนำกากปลาร้าเหลือทิ้งจากการผลิตพัฒนาเป็นผงกระดูกปลาเสริมแคลเซียม นอกจากลดต้นทุนการกำจัดเศษเหลือทิ้ง ยังสร้างโอกาสการแข่งขันให้กับบริษัท ทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาด และคาร์บอนเครดิตการลดของเสียจากกระบวนการผลิต เพื่อเตรียมพร้อมขายสินค้าในยุโรปและอเมริกาต่อไปในอนาคต

อุตสาหกรรมน้ำปลาร้าไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นสินค้าส่งออกที่ได้รับความนิยมในตลาดโลก มีผู้ประกอบการไม่ต่ำกว่า 200 แบรนด์ มูลค่ารวมมากกว่า 1,000 ล้านบาท เป็นมูลค่าการส่งออกราว 200 ล้านบาท/ปี ทำให้เกิดปัญหาของเสียจากกระบวนการผลิต มีปริมาณกากปลาร้า 680 ตัน/ปี ส่วนใหญ่กำจัดโดยวิธีฝังกลบ ซึ่งอาจรั่วไหลลงดินและแหล่งน้ำ เกิดปัญหามลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม การจัดการกากปลาร้าอย่างถูกวิธีนอกจากช่วยลดมลพิษ ยังเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่สำหรับผู้ประกอบการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง