ลานีญากลับมา กค.-กย.เกษตรกรมีลุ้น

วันพุธ ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2567

การดู : 593

ลานีญากลับมา กค.-กย.เกษตรกรมีลุ้น

แชร์ :

     สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แถลงข่าวแนวโน้มสถานการณ์น้ำ 67 - 68และมาตรการการปรับตัว ที่ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ อาคาร วช. 8 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567  โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติเป็นประธาน 

     ผศ.ดร.จุติเทพ วงษ์เพ็ชร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวว่า จากแบบจำลองปริมาณน้ำท่าในปี 2567-2568 มีความเป็นไปได้ 3 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1 หากช่วงฤดูฝนของปี 2567 เข้าสู่สภาวะลานีญารุนแรงจะทำให้ปริมาณน้ำ สูงถึง 14,000 ล้าน ลบ.ม. รูปแบบที่ 2 หากเข้าสู่สภาวะลานีญาอ่อนจะทำให้น้ำมีประมาณ 6,000 – 8,000 ล้าน ลบ.ม. รูปแบบที่ 3 ถ้าสภาวะลานีญาอยู่ในระดับปกติ ในปี 2568 ปริมาณน้ำคงอยู่ประมาณ 6,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเชื่อมโยงถึงการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานและแนวทางการปรับตัวของภาคเกษตร โดยกรมประทานได้นำข้อมูลจากการพยากรณ์เหล่านี้มาพิจารณาร่วมกับปริมาณน้ำจริงในอ่างเก็บน้ำ ช่วงเดือนพฤษภาคมก่อนเข้าจะเข้าฤดูฝนตามการคาดการณ์ ทั้งนี้ปริมาณน้ำกักเก็บที่เพียงพอต่อการ อุปโภคบริโภค และสิ่งแวดล้อมในประเทศคือ ประมาณ 4,000 ล้าน ลบ.ม. หากกักเก็บน้ำได้มากกว่าจะเป็นน้ำเพื่อการเกษตร แต่นอกเขตชลประทานจะต้องเตรียมตัวเพื่อลดผลกระทบเมื่อฝนทิ้งช่วง เช่น การเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำ การใช้เทคโนโลยีในการให้น้ำ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้น้ำพืช การปรับเปลี่ยนรูปแบบการเพาะปลูก
    ดร.กนกศรี ศรินนภากร สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และ ดร.ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่าจากการคาดการณ์พบว่าปีนี้และปีหน้าจะเริ่มเข้าสู่ภาวะลานีญา ช่วงต้นปี พ.ศ. 2567 ฝนจะน้อย และตกมากขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน มีแนวโน้ม 2 รูปแบบ คือ ลานีญาแบบปกติ หรือลานีญาแบบอ่อนเป็นเวลาประมาณ 2 ปี ก่อนที่จะกลับมาแล้งอีกในปี พ.ศ. 2571 การบริหารปริมาณน้ำในเขื่อนจึงต้องวางแผนล่วงหน้า 2 ปี และ ควรประเมินสถานการณ์น้ำตามตำแหน่งของพื้นที่ซึ่งได้รับน้ำจากฝนทุก 2 เดือน

รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์

     รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ กล่าวว่า การแถลงข่าวครั้งนี้เป็นการเสนอการคาดการณ์ และทางออกของการจัดการปัญหาด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในการบริหารจัดการน้ำเพื่อตั้งเป้าหมาย ลดความเสี่ยง ลดความเสียหาย ยั่งยืนแบบยืดหยุ่น รวมทั้งสร้างการรับรู้และเข้าใจแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในการปรับพฤติกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและสถานการณ์น้ำใน ปี 2567 – 2568

     ศูนย์ภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานการเฝ้าระวังปรากฏการณ์เอลนีโญ/ลานีญา เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ระบุว่า สถานการณ์ปัจจุบัน ปรากฏการณ์เอนโซยังอยู่ในสภาวะเอลนีโญกำลังแรง โดยอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณเขตศูนย์สูตรในเดือนที่ผ่านมา สูงกว่าปกติเกือบทั่วทั้งบริเวณ สำหรับอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเฉลี่ยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสูงกว่าค่าปกติประมาณ 1.0-1.9 องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิน้ำทะเลที่อยู่ลึกจากผิวน้ำลงไปจนถึงระดับ 300 เมตร ช่วงสองเดือนที่ผ่านมา พบว่า อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงกว่าค่าปกติยังคงอยู่เกือบทั่วทั้งบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกแถบศูนย์สูตรในระดับความลึกไม่ถึง 100 เมตร ส่วนที่ลึกลงไปอุณหภูมิน้ำทะเลที่ต่ำกว่าค่าปกติได้มีกำลังแรงขึ้นและขยายพื้นที่ไปทางตอนกลางและด้านตะวันออกของมหาสมุทรฯมากขึ้น 
     การคาดหมาย จากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่มีค่าสูงกว่าค่าปกติและระบบการหมุนเวียนบรรยากาศ
บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเขตศูนย์สูตร ประกอบกับวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการทางสถิติและแบบจำลอง
เชิงพลวัต คาดว่า ปรากฏการณ์เอนโซที่อยู่ในสภาวะเอลนีโญกำลังแรงนี้จะอ่อนลงและต่อเนื่องถึง
ช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2567จากนั้นจะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนเมษายนถึง
มิถุนายนและมีความน่าจะเป็นร้อยละ 68 ที่จะเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนกรกฏาคมถึงกันยายน
2567 
     เอลนีโญ ใช้เรียกปรากฏการณ์ธรรมชาติ กินบริเวณทั้ง 2 ด้านของมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่ออากาศบริเวณชายฝั่งอเมริกาใต้มีอุณหภูมิสูงขึ้นผิดปรกติ ประกอบกับลมค้าตะวันออกเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกและตอนกลางอ่อนกำลังลง กระแสน้ำเย็นซึ่งพัดไปทางตะวันตกตามปรกติอ่อนแรงลง กระแสน้ำอุ่นจากทางทิศตะวันตกก็จะพัดเข้ามาแทนที่  ปรากฏการณ์นี้ ทำให้ชายฝั่งด้านตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้แห้งแล้ง ปริมาณปลาลดลง ส่งผลกระทบต่ออาชีพประมง เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม  ปรากฏการณ์เอลนีโญเกิดขึ้น 3-7 ปี ต่อครั้ง แต่ละครั้งนานประมาณ 1 ปี หรือกว่านั้น สำหรับประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบบ้าง
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง

     ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์แผนงานสำคัญของประเทศ ประเด็นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ วช. ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบ โครงการ แผนงาน และแผนงานชุดโครงการขนาดใหญ่ หรือแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานบริหารจัดการน้ำ ที่มี รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ เป็นประธานบริหารแผนงาน 
    การจัดงานในครั้งนี้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำของประเทศ อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)  กรมชลประทาน และนักวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานบริหารจัดการน้ำ เพื่อบูรณาการภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำรวมถึงการขับเคลื่อนสังคมและสร้างวัฒนธรรมรักษ์น้ำและการประหยัดน้ำ เพื่อให้สามารถผลักดัน ขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรม ให้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง