มจธ.ขานรับ อว.เพิ่มความสามารถแข่งขันยั่งยืนด้วยนวัตกรรม

วันศุกร์ ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2567

การดู : 186

มจธ.ขานรับ อว.เพิ่มความสามารถแข่งขันยั่งยืนด้วยนวัตกรรม

แชร์ :

ศุภมาส รมว.อว. ย้ำนโยบายวิทยาศาสตร์วิจัยนวัตกรรม EV – AI พัฒนากำลังคน สร้างนวัตกรรม มจธ. ขานรับเป็นตัวเชื่อมมหาวิทยาลัย กับอุตสาหกรรม ภาครัฐ เอกชน พัฒนาบุคลากร เพิ่มความสามารถแข่งขันเพื่อยั่งยืน ไม่ใช่ชนะคู่แข่ง

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน Thailand Competitiveness Forum 2024 จัดโดยศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร (Center for Strategy and Enterprise Competitiveness =STECO)มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พร้อมกับแสดงปาฐกถาพิเศษหัวข้อวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมกับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย ที่ Auditorium ชั้น 7 อาคาร KX Knowledge Xchange กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.67

นางสาวศุภมาส กล่าวว่าข้อจำกัดของภาคธุรกิจไทย อยู่ที่ความสามารถด้านผลิตภาพ ความท้าทาย คือการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มมูลค่าและผลิตภาพในสินค้าหรือบริการ การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ มีประสิทธิภาพสูงสุด การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ทักษะที่จำเป็นให้สามารถปฏิบัติงานได้เท่าทันเทคโนโลยี พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตภายใต้สภาวะการแข่งขันประเทศ โดยระบุว่าสถาบันการจัดการนานาชาติ หรือ IMD ประจำปี 2566 จัดให้ไทยอยู่อันดับที่ 30 จาก 33

นางสาวศุภมาส กล่าวอีกว่ากระทรวง อว.ประกาศนโยบายด้านอุตสาหกรรม ในยุทธศาสตร์ 2 เรื่องคือ นโยบาย อว. For EV และ นโยบาย อว. For AI เป็นนโยบายที่มุ่งส่งเสริมและผลักดันให้ประเทศไทยมีศักยภาพเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมของภูมิภาค ปิดช่องว่างปัญหาการขาดแคลนบุคลากร และข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อรองรับการลงทุนที่จะมาถึง

นโยบาย อว. For EV สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการพาประเทศไทยเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ด้วย 3 เสาหลักคือ 1. EV HRD คือการสร้างคนเพื่อตอบความต้องการของอุตสาหกรรม EV และการใช้รถ EV ของประเทศไทย 2. EV Innovation สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรม EV โดยกระทรวง อว. เตรียมจัดสรรทุนในวงงินประมาณ 3,000 ล้านบาทในเวลา 5 ปี  3. EV Transformation ทำให้รถที่ใช้ในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวง อว. เปลี่ยนจากรถที่ใช้น้ำมัน (ICE) ใช้รถไฟฟ้า ด้านนโยบาย อว. For AI ประด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ 1. AI for Education ใช้ AI ในการเรียนการสอนให้ 2. AI workforce development พัฒนาบุคลากรไทยให้เชี่ยวชาญด้าน AI และ 3. AI innovation นำ AI มาใช้งานจริงทุกภาคส่วน

รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เดีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทดโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) กล่าวว่า มจธ. จะเป็นตัวกลางเชื่อมโยงองค์ความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย กับภาคอุตสาหกรรม เชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาบุคลากร พัฒนาองค์กร เพื่อพัฒนาประเทศ สร้างเครือข่ายเพื่อความร่วมมือการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป

ผศ.ดร. วัชพจน์ ทรัพย์สงวนกุล ผอ. STECO กล่าวว่า โจทย์การเพิ่มความสามารถการแข่งขันคือทำให้มีความยั่งยืน ไม่ใช่ชนะคู่แข่งแล้วเป็นผู้แพ้วันพรุ่งนี้ บริบทของสังคมเปลี่ยนแปลงจากอดีต องค์กรไม่ได้มุ่งผลลัพธ์ทางการเงินอย่าเดียว แต่มีความท้าทายเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นตัวแปรความสามารถในการแข่งขัน

ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นรายชั่วโมง บางเรื่องเกิดเป็นรายนาที โดยmegatrends หรือแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่ศึกษาโดย PWC (บริษัทที่ปรึกษารายใหญ่) ศึกษาไว้ 5 มิติ ได้แก่ สภาพภูมิอากาศ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง โลกร้อนเมื่อ 50 ปีก่อน วันนี้กลายเป็นโลกเดือด อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น ส่งผลกับทรัพยากรธรรมชาติ วัตถุดิบบางอยางจำกัด ต้นทุนการผลิตแพงขึ้น ด้านเทคโนโลยี มีหลายเรื่อง ทั้ง AI Robotics ซึ่งไม่ใช่มาแทนที่คน แต่เป็นเครื่องมือให้คนนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน  คำถามคือบุคลากรของเรามีความพร้อมใช้เทคโนโลยีเหล่านี้แค่ไหน ด้านประชากรศาสตร์ ทั่วโลกมีอัตราการเกิดต่ำ คนสูงวัยมากขึ้น  ส่งผลต่อพฤติกรรมบริโภค สินค้าเด็กเยาวชนมีคนซื้อน้อยลง สินค้าเพื่อสูงวัยมากขึ้น  คนวัยทำงานลดลง เพิ่มผลิตภาพได้น้อย ด้านภูมิรัฐศาสตร์  มีทั้งสงครามใช้อาวุธ และสงครามการค้า  โดยสงครามการค้าในอดีตระหว่างสหรัฐ และจีน ปัจจุบันประเทศเกิดใหม่ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย  ที่มีศักยภาพด้านการผลิต และความต้องการ  ในฐานะผู้ประกอบการ ทำอย่างไรจะพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์นี้  ด้านสังคม มีคำถามจากคนรุ่นใหม่ สินค้าหรือบริการ สร้างผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างไร  ของที่ใช้สร้างผลกระทบต่อสังคมอย่างไร การบริหารองค์กรต้องมีความโปร่งใส ถูกต้องเป็นที่ยอมรับแค่ไหน 

ศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กรหลักสูตร (STECO) เป็นสถาบันพัฒนานักบริหารมืออาชีพ เพื่อตอบสนองความต้องการ ความคาดหวังของหน่วยงานและผู้บริหาร ในรูปแบบการเรียนรู้จากกรณีศึกษา การอบรมเชิงปฏิบัติการ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การฝึกปฏิบัติ ด้วยรูปแบบ Face-to-face และ Online ด้วยองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเชิงกลยุทธ์ เช่น การจัดการเชิงกลยุทธ์การบริหารทรัพยากรบุคคล ภาวะผู้นำ การจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม การจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง