ชูสิ่งประดิษฐ์ไทยช่วยโรคหัวใจล้มเหลว

วันพฤหัส ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

การดู : 555

ชูสิ่งประดิษฐ์ไทยช่วยโรคหัวใจล้มเหลว

แชร์ :

นักประดิษฐ์จาก มจธ.ร่วมกับทีมแพทย์ รพ.รามาฯ ทำได้ สร้างอุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบน รักษาหัวใจล้มเหลว ราคาถูกกว่า ตปท.1ใน3 เป็นความหวังให้คนไข้นับแสน แต่ต้องแนะนำ ฝึกฝนให้หมอยอมรับนำไปใช้ เป้าหมายขายทั้งในประเทศและอาเซียน

   สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดงาน NRCT Talk รางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2567 ครั้งที่ 4 ที่ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย อาคาร วช. 1 เมื่อวันที่ 28 มี.ค.67  ประเภทรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย ผลงานอุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบนจากโลหะผสมจำรูปเพื่อรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว ของนายศรัณย์ ธรรมาศิริกุล นายภวนันท์ ฤทธาเวช และคณะ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยลดภาระการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียของผู้ป่วยโรคหัวใจ 

   ดร.วิภารัตน์ กล่าวว่า ในวาระที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ทรงเปิดงานวันนักประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ เข้าเฝ้ารับพระราชทานเกียรติบัตรรางวัลการวิจัยแห่งชาติ  โดยอุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบนจากโลหะผสมจำรูปเพื่อรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2567 สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย 

ศรัณย์ ธรรมาศิริกุล

   นายศรัณย์ ธรรมาศิริกุล ทีมคณะวิจัย กล่าวว่า อุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบนจากโลหะผสมจำรูปเพื่อรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นนวัตกรรมใหม่ ยังไม่เคยมีใช้มาก่อน พัฒนาต่อยอดมาจากอุปกรณ์อุดรูรั่วที่ผนังหัวใจห้องบนที่ได้วิจัยขึ้น งานวิจัยนี้ได้รับความร่วมมือจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลในการออกแบบ พัฒนา และผลิตอุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบน 


    อุปกรณ์ดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาของการป่วยจากกล้ามเนื้อหัวใจ ทำงานด้วยการส่งผ่านสายสวนเพื่อติดตั้งระหว่างผนังหัวใจห้องบนซ้ายและขวา เพื่อลดความดันในห้องหัวใจของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวให้กลับมาอยู่ในสภาวะปกติ และถ่างขยายผนังกั้นหัวใจ โดยไม่ทำให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อกลับมาปิดได้อีก ซึ่งเป็นการรักษาที่ตรงจุด ไม่ต้องผ่าตัดซ้ำ งานวิจัย เน้นการออกแบบอุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบน ลดขนาดความหนาของจานด้านซ้าย และด้านขวาให้ขนานกับผนังหัวใจมากที่สุด เพื่อป้องกันการรบกวนการไหลของเลือด สาเหตุการเกิดลิ่มเลือด การออกแบบขนาดของรูบนอุปกรณ์ เหมาะสำหรับการลดความดันในหัวใจของผู้ป่วย  ตัวอุปกรณ์ออกแบบให้มีส่วนโค้งตามข้อต่อต่าง ๆ เพื่อง่ายต่อการติดตั้ง มีขนาดที่เข้าได้กับสรีระของคนเอเชีย  

ภวนันท์ ฤทธาเวช

  นายภวนันท์ ฤทธาเวช ทีมคณะวิจัย กล่าวเสริมว่า หากประเทศไทยผลิตอุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบนจากโลหะผสมจำรูปเพื่อรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวขึ้นได้ภายในประเทศ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน ช่วยลดภาระการนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์และช่วยให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ดี อีกทั้งอุปกรณ์นี้จะนำไปสู่การแข่งขันของเทคโนโลยีวัสดุทางด้านการแพทย์ในระดับสากล ได้ในอนาคต 
    รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจประมาณ 4 แสนราย อยู่ในกลุ่มปัญหากล้ามเนื้อหัวใจราว 98,000 ราย แต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มีไม่เกิน 20 คน อีกทั้งอุปกรณ์ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ การพัฒนาอุปกรณ์ขึ้นได้ในประเทศแม้จะมีราคาต่ำกว่าถึง1ใน3  แต่การจะเป็นยอมรับเพื่อใช้ในโรงพยาบาลหรือแรงจูงใจที่จะให้แพทย์เลือกใช้ ขึ้นกับการแนะนำถ่ายทอดเทคโนโลยีให้รู้จักได้ฝึกใช้ อย่างไรก็ตามสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าว เคยร่วมประกวด เป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ และได้รับรางวัลระดับเหรียญทองจากประเทศเยอรมนีและโปแลนด์มาแล้ว อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัย ได้เตรียมก่อตั้งเป็นวิสาหกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ตอัพ โดยเป้าหมายแรกจะเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ และขยายสู่กลุ่มประเทศอาเซียน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง