ชี้ทิศอาหารแห่งอนาคตไทยต้อง FunctionalและNovel Food
วันพุธ ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2567
การดู : 104
แชร์ :
สกสว. สภาพัฒน์ สภาอุตสาหกรรม เสวนายกระดับความสามารถแข่งขันอุตสาหกรรมเป้าหมาย เน้นฟังชั่นฟู้ดด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดเวทีเสวนา “การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ” ครั้งที่ 7 เพื่อสร้างโอกาสอุตสาหกรรมอาหารอนาคตไทยให้ยั่งยืนบนเวทีโลก พร้อมระดมความเห็นจากภาครัฐ เอกชน และภาควิชาการ เพื่อนำข้อมูลไปใช้วางแผนและออกแบบการจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงขับเคลื่อนประเด็นด้านข้อมูลสถานการณ์ของอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนนำเสนอประเด็นโจทย์วิจัยสำคัญ และรับข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่าง ๆ ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตของประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศให้แข่งขันกับต่างประเทศได้
รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผอ. สกสว. กล่าวว่าแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พ.ศ. 2566 – 2570 ได้มีแผนงานย่อย Flagship F3 (S1P2) ยกระดับการผลิตและการส่งออก Functional Ingredients, Functional Food, Novel Food ซึ่งใช้วัตถุดิบจากภาคเกษตรในประเทศ ตั้งเป้าว่าประเทศไทยจะมีมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ Functional Ingredients, Functional Food และ Novel Food ใช้วัตถุดิบจากภาคเกษตรในประเทศเพิ่มขึ้น โดยใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพิ่มขึ้น 4,000 ล้านบาท ในช่วงปี พ.ศ. 2566 – 2570 จากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) เวทีเสวนานี้จะเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือทุกภาคส่วนช่วยกันขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต มุ่งสู่การเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้อย่างยั่งยืน ด้วยการใช้ ววน.
นายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึง แนวทางการพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร ใน 4 หมุดหมายได้แก่ เกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง,การแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุสาหกรรมดิจิทัล,เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ มีเป้าหมายเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง เป็นปัจจัยเร่งให้อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารมูลค่าสูงต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) สร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคผ่านการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและมีความปลอดภัย การส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารนั้น ต้องใช้งานวิจัยและนวัตกรรม
รศ. ดร. ณัฐดนัย หาญการสุจริต ประธานหน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนา ววน. ด้านอาหารอนาคต สกสว. และ รองคณบดี คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าผลผลิตทางการเกษตรมีมูลค่าค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่ยังเป็นวัตถุดิบที่ไม่ผ่านการแปรรูปหรือแปรรูปเพียงขั้นต้นเท่านั้น เกษตรกรไทยจึงมีความเปราะบางสูงและมีรายได้น้อย เกษตรกรกลับมีต้นทุนการผลิตที่สูง การผลิตยังต้องพึ่งพาปัจจัยทางธรรมชาติ (น้ำ ที่ดิน และสภาพดินฟ้าอากาศ) ที่มีความไม่แน่นอน ดังนั้นแนวโน้มเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมอาหารจะเน้นไปในเรื่องความยั่งยืน สุขภาพและโภชนาการ ความซื่อตรงและโปร่งใส การใช้ปีญญาประดิษฐ์ มาแก้ปัญหา เทรนด์อาหารจะเน้นไปที่อาหารสุขภาพ อาหารฟังก์ชัน อาหารโภชนาการจำเพาะบุคคล โปรตีนทางเลือก รวมถึงการใช้กระบวนการใหม่ ๆ ปัญญาประดิษฐ์ การหมักแบบแม่นยำ บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ตลอดห่วงโซ่คุณค่า และเพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้กับอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรบุคคล การวิจัยและพัฒนา กฎระเบียบและมาตรฐาน และผู้บริโภคและการค้า
ข่าวอัพเดท