กสศ.ยกอาชีพทอเสื่อให้หรูขึ้นห้าง-เรือนจำตัดเสื้อส่งนอก
วันจันทร์ ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2567
การดู : 666
แชร์ :
กสศ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับพื้นที่ สร้างสังคมเสมอภาคทางการศึกษา ถึง ต.โนนสมบูรณ์ บึงกาฬ และเรือนจำชั่วคราวโคกก่อง อุดรธานี กระกระตุ้นชุมชนแปรรูป กก จากทอเสื่อแค่ผืนละ50 บาท เป็นกระเป๋าถือยกระดับเป็น 1,000 ส่วนผู้ต้องขังสร้างอาชีพด้วยเป้าหมายไม่ทำผิดใหม่ ให้รู้จักค้าขาย ฝึกการพูดพร้อมให้ทุน ร่วมกับ สกร. ม.ราชภัฏฯ เพื่อเรียนรู้ตลอดชีวิต
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับพื้นที่ หัวข้อ“สานพลังพื้นที่...ร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้สู่ความเสมอภาคทางการศึกษา ระหว่างวันที่ 4 – 5 เมษายน 2567 ที่จังหวัดบึงกาฬ และจังหวัดอุดรธานี มี ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร ประธานอนุกรรมการ ส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กสศ.นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผช.ผจก.กองทุน กสศ. นางณัฐกฤตา พึ่งสุข ผอ.ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ กลุ่มหมายพิเศษ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ พร้อมด้วย คณะกรรมการบริหาร อนุกรรมการฯ ผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. ตัวแทนระดับพื้นที่ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ตลอดภาคีเครือข่ายภาคเอกชน ประชาสังคม หน่วยราชการในระดับจังหวัดและภาคส่วนต่างๆ ของภาคีเครือข่ายระดับจังหวัด เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จุดแรก เปิดเวที ที่ ศูนย์การเรียนรู้ตำบล (ศกร.)โนนสมบูรณ์ อ.เมือง จ.บึงกาฬ ซึ่งได้การสนับสนุนพัฒนาอาชีพแปรรูปกก พืชล้มลุกที่เติบโตเป็นกอ ลำต้นเหนือดินเป็นก้านแข็งกลม สูงประมาณ 1.2-2.4 เมตร ซึ่งขึ้นอยู่มากมาย นางดวงใจ ทุมซ้าย ผู้นำฝ่ายผลิตวิสาหกิจชุมชนทอเสื่อบ้านโพธิ์ทอง และ น.ส. อุดร คำชาตา ประธานวิสาหกิจชุมชนทอเสื่อบ้านโพธิ์ทอง กล่าวว่า เลิกอาชีพรับจ้างที่ กทม. กลับคืนถิ่นพบว่า กกที่คนรุ่นแม่ทำ เป็นการทอเสื่อผืน ขายได้เพียง 50 บาท จึงประสานงานแหล่งเรียนรู้ เช่น กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ขณะยังเป็นกรมส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศรัย (กศน.) สร้างลวดลายบนผืนเสื่อ ได้ราคาสูงขึ้นเป็น 200 บาท และได้รับการถ่ายทอดความรู้เพิ่มเติม จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ถ่ายทอดการออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์ จนพัฒนาจากเสื่อเป็นของใช้เช่นกระเป๋า หมวก ราคาระดับหลักพันบาท โดยเฉพาะกระเป๋าถือสตรีแบรนด์ ก.กก(GorGok) ได้การยอมรับจากห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลให้นำไปวางจำหน่าย ส่งผลให้สถานประกอบการขนาดใหญ่เห็นผลงานจึงสั่งจ้างทำผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น
น.ส.อุดร กล่าวว่า การแปรรูปกกเป็นของใช้ โดยเฉพาะกระเป๋าถือสตรี ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น บางครอบครัวถึงเดือนละ 4 หมื่นบาท คนที่เคยไปทำงานรับจ้างต่างจังหวัดก็กลับมาอยู่กับครอบครัว คนรุ่นใหม่มาช่วยนำสินค้าจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ ลูกหลานคืนกลับสู่บ้าน เป็นความสุขของทุกคนในครอบครัวโดยเฉพาะผู้สูงอายุ
ส่วนที่เรือนจำชั่วคราวโคกก่อง บ.โคกก่อง ต.กุดสระ อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อควบคุม อบรม ฝึกวิชาชีพ เตรียมความพร้อมก่อนปล่อยผู้ต้องขัง ที่เหลือกำหนดโทษไม่เกิน 5 ปี ซึ่งมีการพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง ให้เรียนการศึกษาทางไกลจนจบมัธยมปีที่ 6 เรือนจำชั่วคราวแห่งนี้ สอนวิชาการอาหารและการแปรรูปอาหาร วิทยากรจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี การเลี้ยงสัตว์เช่นปลากบ แมลงวันลาย ทั้งนี้ เรือนจำชั่วคราวร่วมกับมหาวิทยาล้ยราชภัฏอุดรธานี มีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการพัฒนาอาชีพให้บุคคลที่พ้นโทษแล้วไปประกอบอาชีพ ไม่กลับไปกระทำผิดอีก วิทยากรทุกวิชากล่าวตรงกันว่า ผู้ต้องขังทุกรายที่เข้ารับการอบรมมีความกระตือรือร้นสนใจการฝึกอบรมอย่างมาก โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ต้องขังทุกราย นอกจากฝึกอาชีพ ยังได้พัฒนาทักษะการสื่อสาร สามารถขึ้นเวทีพูดต่อชุมชนได้อย่างฉาดฉาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าขาย การประกอบอาชีพต่อไป
ดร.ศศิณี กันยาบุญ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผู้สอนการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อเพิ่มทักษะอาชีพสำหรับผู้ต้องขัง กล่าวว่า สอนการแปรรูปกล้วยฉาบ ที่บางคนเข้าใจว่ารู้อยู่แล้ว แต่เมื่อเข้ารับการถ่ายทอดจึงทราบว่า การแปรรูปมีเทคนิควิธีการอีกมาก ผู้ต้องขังบางรายที่ผ่านการอบรม มั่นใจว่าจะประกอบการถึงขั้นแจ้งให้ญาติปลูกกล้วยไว้รอแล้ว ส่วนรายที่สนใจทำร้านอาหาร ก็ได้รับทุนอุปกรณ์จากเรือนจำมูลค่า 5,000 บาท
ด้าน ผศ.ดร. คณิศรา ธัญสุนทรสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวว่า การสอนอาชีพ ทาง กสศ ไม่ได้ดูผลิตภัณฑ์ สินค้าไม่จำเป็นต้องอลังการ เน้นการปรับวิธีคิด ได้ปรับฐานกาย ฐานใจ เปลี่ยนผู้ต้องขังเป็นผู้เรียนรู้ การเรียนนอกจากความรู่ ยังได้รู้พื้นที่คนอื่นมีปัญหาเหมือนกัน ได้เรียนรู้ร่วมกัน จากที่ไม่เคยมีใครฟัง เกิดความไว้ใจ เรียกการฮีลใจ(เยียวยา)
ปิ่นมนัส โคตรชา ผู้บริหารบริษัท อัตลักษณ์ จำกัด วิสาหกิจเพื่อสังคม รับผิดชอบโครงการ ฅ.คนกลับใจ นำวิทยากรสอนการตัดเย็บ จนมีความชำนาญ แล้วประสานงานกับหอการค้าจังหวัด รับงานมาทำต่อ มีงานผลิตเสื้อแจ็กเก็ต จนปัจจุบันผลิตไม่ทันกับความต้องการ อีกอาชีพคืองานปั้น สอนการปั้นรูป โดยเฉพาะท้าวเวสสุวรรณ ก็ได้รับความสนใจจากตลาด นอกจากนี้ อาจารย์ เบญจวรรณ บุ้งทอง หรือครูป้อม หัวหน้างานโครงการพิเศษและการบริการชุมชน วิทยาลัย อาชีวศึกษาอุดรธานี ระบุว่า จังหวัดอุดรธานี มีคลัสเตอร์ผ้าใหญ่สุด ขณะนี้พัฒนาให้เป็นช่างเสื้อแจ๊กเก็ต ตามออเดอร์ เพื่อส่งออกประเทศจีน ผู้ต้องขังเริ่มมีรายได้ แม้ยังไม่พ้นโทษ ก็มีแหล่งงานรองรับรอแล้ว จากนี้ จะส่งสอบมาตรฐานเสื้อผ้า หากได้ใบรับรอง ก็ไปทำงานที่ต่าง เช่น ประเทศอังกฤษ เยอรมนีได้
ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร ประธานอนุกรรมการ ส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กสศ. กล่าวว่า ทั้งสองพื้นที่เป็นงานที่มีความสำคัญทั้งกับ กสศ.สังคมและประเทศมากพอสมควร ได้เห็นโอกาสยังมีอยู่ เริ่มจากล่างขึ้นบน ชุมชนรู้ว่า กกเป็นทรัพยากร เสริมภูมิปัญญามีครู กศร.เป็นผู้นำธรรมชาติที่จริงจัง พัฒนาต่อยอด เพิ่มรายได้ ขึ้นไปอีกมาก ทำให้เกิดความมั่นคงในครอบครัวด้านรายได้ เป็นการส่งต่อโดยธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลดีต่อไปในอนาคต ต่อชุมชน ให้คนในชุมชนกลับมาอยู่ร่วมกัน สร้างสิ่งดีๆ
ทั้งนี้ กสศ.มีเครือข่ายที่มองประเด็นเหล่านี้และอยากเห็นสิ่งที่ดีกว่า กสศ.มีหน้าที่เอาทุนไปให้เริ่มจากสิ่งที่มีในชุมชน บอกเขาว่า มีทุนไม่มากนะ แต่จะช่วยให้ทําในสิ่งที่ฝัน ที่คุณต้องการ ที่คิดว่าควรจะเป็น
ส่วนการขอรับการสนับสนุนทุนจาก กสศ. ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวว่า แต่ละปีจะเปิดด้านการใช้ชุมชนเป็นฐานสำหรับกลุ่มเปราะบาง คนตัวเล็กตัวน้อย ให้ยื่นข้อเสนอ แรงบันดาลใจ คณะกรรมการจะให้ความสำคัญกับเอกสารคำขอ 30เปอร์เซ็นต์ แต่จะสัมภาษณ์ถามว่าลึกๆ ต้องการอะไร อยากเห็นชุมชนดีขึ้นแบบไหน ทำแล้วผลจะสร่างความเจริญมั่นคงอย่างไร ฉะนั้นคนตัวเล็กตัวน้อยมีโอกาสเสนอทุกราย เรามีกรรมการจากหลายฝ่ายทั้งเอกชน สื่อมวลชน นักวิชาการ ที่จะพิจารณาอยากละเอียดประณีต เชื่อในแรงบันดาล และความตั้งทำงานของชุมชนเอง
ข่าวอัพเดท