มรสุมใต้อ่อนกำลังระวังคลื่นซัดฝั่ง

วันเสาร์ ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

การดู : 91

มรสุมใต้อ่อนกำลังระวังคลื่นซัดฝั่ง

แชร์ :

อุตุฯแจ้งมวลอากาศเย็น มรสุมอ่อนกำลัง แต่หย่อมความกดต่ำจากช่องแคบมะละกา ยังมีผลให้ฝนตกหนักมากบางแห่ง กับให้ระวังคลื่นซัดฝั่งอ่าวไทย ภูมิธรรม สั่งทุกหน่วยระดมช่วยบรรเทาความเดือดร้อนชาวบ้านและรายงานทุกชั่วโมงแม้ฝนจะซาแล้ว

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า เมื่อ17.00 น.วันที่30พ.ย.67 แจ้งว่า มวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนทีปกคลุมถึงภาคใต้ตอนบนและทะเลจีนใต้ มีกำลังอ่อนลง มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่ปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ก็มีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้ฝนลดลง แต่มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณช่องแคบมะละกา ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง จึงให้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง โดยเฉพาะที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน พื้นที่ลุ่ม ประชาชนในภาคใต้ฝั่งตะวันออกควรระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่งในระยะนี้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 2–3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร เรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่งต่อไปอีก 1 วัน

พยากรณ์ระบุว่า จะมีฝนฟ้าคะนอง 60% ของพื้นที่ มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณ จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส (6จังหวัด)

รายงานล่าสุดจาก เพจข่าวของชุมชนพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีน้ำท่วมขัง บางจุดเช่น ทางหลวง 42 ปัตตานี -นราช่วงบ้านบาโงมูลง เตราะบอน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี รถเล็กยังผ่านไม่ได้ (เพจข่าวด่วนปาตานี)

น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างมาก ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ มอบหมายให้ทุกส่วนราชการ ระดมสรรพกำลัง เร่งแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้กลับสู่ปกติโดยเร็ว ให้ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ สนับสนุนความช่วยเหลือจนกว่าจะเข้าสู่สภาวะปกติ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะ ผอ.ศปช.ได้สั่งการเพิ่มเติมเช้าวันที่30พ.ย.67 ให้ ศปช.ส่วนหน้าภาคใต้ พื้นที่ จังหวัดภาคใต้ตอนล่างที่ได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกหนักในช่วงที่ผ่านมาระดมความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าพื้นที่เพิ่มเติม เพื่อคลี่คลายสถานการณ์และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และให้รายงานเป็นรายชั่วโมงแม้ฝนจะซาลง

การหารือกับจังหวัดที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ มีความต้องการเรือท้องแบน เจ็ตสกี รถยกสูง อาหารแห้ง จึงสั่งการให้ กระทรวงกลาโหม กรมเจ้าท่า จัดหา รถยกสูง เรือรูปแบบต่าง ๆ พร้อมเจ็ตสกี เข้าพื้นที่ เคลื่อนย้ายประชาชนไปยังศูนย์พักพิงหรือจุดที่ปลอดภัย สั่งให้กรมชลประทานติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เครื่องจักรเครื่องมือต่าง ๆ เร่งระบายน้ำ ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพร้อมจิตอาสา ระดมความช่วยเหลือ ถุงยังชีพ และอาหารแห้งเข้าแจกจ่ายในพื้นที่แล้ว” น.ส.ศศิกานต์ กล่าว

น.ส.ศศิกานต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ศปช.ได้ให้กรมประชาสัมพันธ์ บูรณาการข้อมูลจากทุกหน่วย ออกประกาศแจ้งเตือนระดับพื้นที่ เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคงดการระบายน้ำของเขื่อนบางลางตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อลดผลกระทบในพื้นที่ท้ายน้ำ

ส่วนเส้นทางสัญจรที่ได้รับผล กระทบให้กระทรวงคมนาคมสำรวจความเสียหาย เร่งแก้ไขให้สัญจรได้อย่างปลอดภัย ตรวจสอบเส้นทางรถไฟที่อาจได้รับผลกระทบจากดินถล่ม พร้อมกับสั่งป้องกันโรงพยาบาลไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้ป่วย และเตรียมส่งต่อผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียงเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

รายงานแจ้งว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับกองทัพบก (ทบ.) ส่งเฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย KA-32 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กู้ภัยประจำ ฮ.ปภ.32 The Guardian Team จากค่ายวิภาวดีรังสิต จ.สุราษฎร์ธานี ให้บินไปสนับสนุนช่วยน้ำท่วมภาคใต้โซนล่าง Standby ปฏิบัติภารกิจเพื่อประชาชนพื้นที่ภาคใต้จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

สำนักงานชลประทานที่ 17 สั่งการโครงการชลประทานในสังกัด เร่งช่วยเหลือบรรเทาความเดือร้อนประชาชนที่ประสบอุทกภัย เปิดประตูระบายน้ำทุกแห่งเพื่อเร่งพร่องระบายน้ำออกสู่ทะเล

นายเฉลิมชัย ตรีนรินทร์ ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 17 เปิดเผยว่า ได้สั่งการเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติม เปิดประตูระบายน้ำทุกแห่งเพื่อเร่งพร่องระบายน้ำออกสู่ทะเล ให้โครงการชลประทานในพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนล่วงหน้า จัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยง หากเกิดเหตุให้สามารถเข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ในระดับพื้นที่ให้ช่วยเหลือประชาชน ใช้เครื่องจักรขุดเปิดช่องทางการระบายน้ำที่ท่วมขัง กางเต็นท์ช่วยเหลือประชาชนเป็นที่พักพิงชั่วคราว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง