น้ำปิงยังล้นตลิ่งเชียงใหม่-เจ้าพระยาระบายเพิ่ม2,400คิว
วันเสาร์ ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2567
การดู : 88
แชร์ :
น้ำปิงยังสูงล้นตลิ่ง แหล่งเศรษฐกิจ เทศบาล ส่วนที่แม่แตงน้ำเริ่มลด ยุติลำเลียงช้าง เฝ้าระวังสถานการณ์ กระทรวงทรัพย์ส่งเจ้าหน้าที่กว่าร้อยคน พร้อมปศุสัตว์ช่วยดูแลศูนย์บริบาลช้าง เตรียมเสนอ ครม.เพิ่มค่าล้างโคลนให้ชาวแม่สายครอบครัวละ10,000 บาท ชลประทานเพิ่มระบายเขื่อนเจ้าพระยา2,400 ลบ.ม./วินาที
๐น้ำปิงยังล้นตลิ่ง
รายงานจากโครงการชลประทานเชียงใหม่ แจ้งว่า ช่วงเย็นวันที่ 5 ตค.67 สถานการณ์ที่สถานีวัดระดับน้ำสะพานนวรัฐ (P.1) อยู่ที่ระดับ 5.30 ม. สูงกว่าระดับตลิ่ง 1.10 ม.
นายอัฏฐวิชย์ นาควัชระ ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้ออกประกาศแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมทุกโซนในเขตอ.เมืองเชียงใหม่ พร้อมกับเร่งระบายน้ำในลำน้ำปิงโดยยกบานระบายของอาคารชลประทานต่าง ๆ เฝ้าระวังจัดเก็บเศษไม้ ผักตบชวา และสิ่งกีดขวางทางน้ำต่าง ๆ ที่ไหลมากับน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำได้ดียิ่งขึ้น ส่วนการให้ความช่วยเหลือ ได้บูรณาการกับจังหวัดและหน่วยงานในพื้นที่ สนับสนุนรถขนย้ายผู้ประสบภัย กระสอบทราย เครื่องสูบน้ำ และถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง
รายงานจาก สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) แจ้งสถานการณ์น้ำ สถานี P.1 สะพานนวรัฐ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ระดับน้ำ5.29 ม. สูงกว่าตลิ่ง 1.59 ม. (ระดับตลิ่ง 3.70 ม.) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปริมาณฝน คาดการณ์ว่า น้ำจะสูงสุดวันที่ 6 ต.ค. 67 สูงกว่าตลิ่งประมาณ 2.10 - 2.50 ม. หรือสูงกว่าแนวตลิ่ง ชั่วคราว ประมาณ 1.60 - 2.00 ม. และจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติวันที่ 9 ต.ค. 67
๐แม่แตงคลี่คลาย
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.)กล่าวว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม จ.เชียงใหม่ ด้วยความเป็นห่วง และได้รับรายงานอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเข้าช่วยเหลือประชาชนและสัตว์โดยด่วน
“ขณะนี้น้ำ เริ่มไหลกลับลงลำน้ำแม่แตงแล้ว ก่อนหน้านี้มีการลำเลียงช้างขึ้นที่สูง แต่เมื่อน้ำเริ่มลด ไม่มีช้างแช่น้ำ จึงปรับแผน ไม่ต้องเคลื่อนย้าย แต่ให้เฝ้าระวัง ตลอดเวลา จัดเตรียมยา เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ดูแลอย่างใกล้ชิด และจัดกำลังเข้าไปฟื้นฟูบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบ ให้ทุกคนกลับมาอยู่ในภาวะปกติโดยเร็ว และให้เฝ้าจับตาสถานการณ์ต่อเนื่องโดยเฉพาะใน 24 ชั่วโมงข้างหน้า“นายจิรายุกล่าว
การช่วยเหลือช้างที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมส่งเจ้าหน้าที่กว่า100นายไปยังศูนย์บริบาลช้าง มีช้างได้รับผลกระทบทั้งหมด 126 เชือก เคลื่อนย้ายไปยังที่ปลอดภัยแล้ว 114 เชือก เหลือที่ผูกไว้บนที่สูง 9 เชือก ขณะนี้น้ำเริ่มลด จะนำอาหารสัตว์พร้อมส่งปศุสัตว์เข้าไปช่วยเหลือ
สถานการณ์น้ำแม่น้ำปิง เวลาประมาณ 12 นาฬิกา สถานี P.1 สะพานนวรัฐ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ระดับน้ำ 5.30 ม. สูงกว่าตลิ่งชั่วคราวที่เสริมจากแนวตลิ่งเดิม 1.10 ม. คาดว่า น้ำปิงจะขึ้นสูงสุดเที่ยงคืนของคืนนี้ ระดับน้ำจะสูงขึ้นประมาณ 50 ซม. หรือสูงกว่าแนวตลิ่งชั่วคราว 1.60 เมตร ได้ประกาศแจ้งเตือนพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำปิง จ.เชียงใหม่ บริเวณ อ.เมืองฯ สารภี หางดง สันป่าตอง ดอยหล่อ และ จ.ลำพูน บริเวณ อ.เมืองฯ ป่าซาง และเวียงหนองล่อง
นายจิรายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 นำกำลังตำรวจ เข้าช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมในหมู่บ้านสัมมากร อ.เมืองเชียงใหม่ ร่วมวางแผนการฟื้นฟู หากระดับน้ำลดลงนอกจากนี้ ตำรวจภูธรเชียงใหม่ ยังนำกำลังสายตรวจออกไปช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ติดค้างอยู่ในพื้นที่อุทกภัย พื้นที่อ.จอมทอง อ.แม่ปิง อ.แม่ริม พร้อมจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย โรงครัวประกอบอาหาร และนำส่งอาหารพร้อมน้ำดื่มให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
๐เสนอครม.ช่วยค่าล้างโคลน10,000บาท
นายจิรายุ กล่าวอีกว่านายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รอง ผอ.ศปช.) พร้อมด้วยนางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย (ประธาน ศปช.ส่วนหน้า) และพลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม (ที่ปรึกษา ศปช.ส่วนหน้า)ติดตาม สถานการณ์น้ำ การให้ความช่วยเหลือและการฟื้นฟูพื้นที่อ.แม่สาย จ.เชียงราย ระบุว่าขณะนี้ระดมทุกภาคส่วนเข้ามาฟื้นฟูคาดว่าภายในสิ้นเดือนนี้จะเคลียร์พื้นที่ให้ประชาชนได้ทั้งหมด และมีการหารือกันเตรียมเสนอให้ ครม. ให้พิจารณาปรับเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในระดับสูงสุดคือ 9,000 บาทต่อครัวเรือน และค่าล้างโคลนครัวเรือนละ 10,000 บาท เนื่องจากสถานการณ์ที่เชียงรายครั้งนี้ ปัญหาใหญ่คือโคลน ต้องใช้คน เครื่องมือค่าใช้จ่ายสูง หากช่วยประชาชนในส่วนนี้ได้ก็จะเป็นประโยชน์
วันเดียวกัน ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายอิทธิ ศิริลัทธยากร นายอัครา พรหมเผ่า รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ที่วัดไชยวัฒนาราม อ.พระนครศรีอยูธยา ,วัดอินทาราม และประตูระบายน้ำคลองตานึ่ง อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา , สถานีสูบน้ำกึ่งถาวรปากคลองรังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี โดยมี นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้องบรรยายสรุปสถานการณ์
๐เจ้าพระยาระบายเพิ่ม-ฝนลงใต้
คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบให้ ปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอัตราไม่เกิน 2,500 ลบ.ม./วินาที แต่เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ด้านท้าย กรมชลประทานจะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตราไม่เกิน 2,400 ลบ.ม./วินาที เพื่อรองรับมวลน้ำเหนือ น้ำฝน ที่จะลงมาสมทบ การระบายน้ำในอัตราดังกล่าว ทำให้บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ระดับน้ำเพิ่มสูงจากเดิม 60-70 ซม. อาจกระทบต่อพื้นที่ชุมชน บริเวณ
๐คลองโผงเผง จ.อ่างทอง , คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา แม่น้ำน้อยบริเวณ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา
๐วัดสิงห์ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี
๐อ.พรหมบุรี อ.เมือง จ.สิงห์บุรี
๐วัดไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง
๐ต.โพนางดำตก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท
๐วัดเสือข้าม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี
๐อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง
กรมชลประทาน ได้แจ้งเตือนไปยังจังหวัดพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เฝ้าระวังระดับน้ำและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากระดับน้ำทางตอนบนเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น จะแจ้งให้ทราบต่อไป
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ออกแถลงการณ์สถานการณ์น้ำประจำวันที่ 5 ตค. 67 คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยล่วงหน้า 3 วัน ช่วงวันที่ 5 - 7 ต.ค. 67 มีพื้นที่เสียง 10 จังหวัด ได้แก่ จ.พังงา (อ.กะปง ทับปุด และเมืองฯ) จ.สงขลา (อ.ระโนด) จ.ตรัง (อ.ห้วยยอด นาโยง วังวิเศษ สิเกา เมืองตรัง ย่านตาขาว และรัษฎา) จ.สุราษฎร์ธานี (อ.บ้านนาสาร พนม และเวียงสระ) จ.นครศรีธรรมราช (อ.พิปูน และฉวาง) จ.สตูล (อ.ทุ่งหว้า และควนกาหลง) จ.กระบี่ (อ.อ่าวลึก เมืองกระบี่ มะนัง และ คลองท่อม) จ.ระนอง (อ.เมืองระนอง) จ.นราธิวาส (อ.สุคิริน) และ จ.ปัตตานี (อ.โคกโพธิ์)
คาดการณ์ปริมาณฝน : ช่วงวันที่ 6-7 ต.ค. 67 ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีน จะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ร่องมรสุมจะเลือนมาพาดผ่านภาคใต้ตอนบน และอ่าวไทยตอนบน ลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทยตอนล่าง และภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคง มีฝนตกหนักบางแห่งในของภาคเหนือด้านตะวันตก ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก และมีฝนตกหนักมาก บางพื้นที่ในภาคใต้
ช่วงวันที่ 8 - 10 ต.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็น ประกอบกับร่องมรสุม และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น มีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลาง ตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
ข่าวอัพเดท