มาแล้วถุงทวารเทียมยางธรรมชาติ ม.อ.

วันอังคาร ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2567

การดู : 472

มาแล้วถุงทวารเทียมยางธรรมชาติ ม.อ.

แชร์ :

ถุงทวารเทียมยางพารา งานวิจัยม.สงขลานครินทร์ ขยายผลนำมาใช้ใน รพ.สังกัด กทม.แล้ว เหมาะกับผิวและผนังหน้าท้องคนไทย แก้ปัญหาขาดแคลน ลดการนำเข้า ใช้ประโยชน์จากยางในประเทศมากขึ้น

 ถุงทวารเทียมยางพารา /ภาพ:ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. 

     รายงานข่าวแจ้งว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.)และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจและสนับสนุนการแพทย์ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม มี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย รศ.นายแพทย์วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ ผอ.สถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ดร.แพทย์หญิงเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผอ.สำนักการแพทย์  ที่สำนักการแพทย์ กทม.ข่าวแจ้งว่า บันทึกความเข้าใจเป็นการเริ่มต้นนำถุงทวารเทียมยางพารา ซึ่งเป็นผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาใช้ในโรงพยาบาลสังกัด กทม.

     ดร.วิภารัตน์  กล่าวว่าการลงนามบันทึกความเข้าใจ มีจุดเริ่มตั้งแต่ปี 2564 ถึงปัจจุบัน ในโครงการชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายทวารเทียมจากยางพารา เป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ทีมวิจัยดำเนินการต่อเนื่องมาเกือบ 10 ปี จนถึงระยะใช้ประโยชน์ แก้ปัญหาความขาดแคลน ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่เดือดร้อนเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม เพิ่มคุณภาพชีวิต ลดช่องว่างทางสังคม ชุดอุปกรณ์ดังกล่าวใช้วัสดุจากยางพาราภายในประเทศ พัฒนาให้เหมาะกับผิวและผนังหน้าท้องของคนไทย ลดต้นทุนการผลิต สร้างความมั่นคงในระยะยาว จดสิทธิบัตรสูตรยางพาราและอนุสิทธิบัตรการออกแบบอุปกรณ์ทวารเทียมแล้ว เกิดผลสัมฤทธิ์นำผลงานวิจัยด้านการแพทย์ไปใช้ประโยชน์อย่างครบวงจร

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง

     รศ.นพ.วรวิทย์ กล่าวว่าอุปกรณ์ทวารเทียมจากยางพารา เป็นวัสดุที่ใช้แล้วทิ้ง ผลิตได้เองในประเทศ ช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ผู้ประกอบการไทยมีความสามารถ พลิกโฉมงานวิจัยและนวัตกรรม เป็นโอกาสดีที่งานวิจัย นวัตกรรม ที่ผลิตคิดค้นโดยนักวิจัยไทย นำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ด้วยทุนวิจัยจาก วช. ตั้งแต่ต้นน้ำ กระบวนการผลิต รวมไปถึงการจดสิทธิบัตร ผลักดันให้เกิดการใช้จริง และการขยายผลต่อไป  มหาวิทยาลัยยังมีงานวิจัยและนวัตกรรมที่หลากหลาย ได้แก่เครื่องมือแพทย์ ยา อาหาร หรือสมุนไพร

รศ.นายแพทย์วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ

         ดร.แพทย์หญิงเลิศลักษณ์ กล่าวว่าการลงนามความเข้าใจกับ วช.และ ม.อ. เพื่อขับเคลื่อนบูรณาการความร่วมมือในการนำองค์ความรู้ งานวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปส่งเสริม สนับสนุน สร้างเสริมให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี สู่การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก ความร่วมมือครั้งนี้เป็นร่วมมือนำองค์ความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อส่งเสริมสนับสนุน สร้างเสริมให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี นำไปสู่การพัฒนาชุมชน และเศรษฐกิจฐานรากให้มีความสามารถในการแข่งข้นด้านการส่งเสริม การค้า และการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน ขยายผลองค์ความรู้งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์

ดร.พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง

      ภายหลังการลงนามบันทึกความเข้าใจและสนับสนุนการแพทย์ ยังมีการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมทางการแพทย์สู่การใช้ประโยชน์ การจัดแสดงนิทรรศการนวัตกรรมของ วช. ม.อ. และ กทม. อาทิ ผลงานการรักษารังแคจากหนังศีรษะอักเสบด้วย แชมพูจากอนุภาคเงิน นาโนจากผลมะกรูดและผลมะรุม เปรียบเทียบกับแชมพูยาคีโตโคนาโซล, ชุดตรวจสุขภาพอัจฉริยะพร้อมเชื่อมต่อระบบสารสนเทศแบบพกพาสำหรับงานสาธารณสุขเชิงรุก, นวัตกรรมทางการแพทย์ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม, แป้นปิดรอบลำไส้และถุงเก็บสิ่งขับถ่ายจากลำไส้, ถุงมือยางธรรมชาติ/ถุงมือไนไตรเคลือบน้ำยานาโนอิมัลชันป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส Covid-19, และผลิตภัณฑ์นมเปรี้ยว นมอัดป้องกันฟันผุ บริษัทแดรี่โฮม วิสาหกิจ เพื่อสังคม จำกัด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง