มจธ.พบสูตรผสมทองสีขาวไม่ปนนิเกิลเลอค่ายิ่งขึ้น

วันศุกร์ ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2567

การดู : 197

มจธ.พบสูตรผสมทองสีขาวไม่ปนนิเกิลเลอค่ายิ่งขึ้น

แชร์ :

นักวิจัย มจธ.ค้นพบสูตรเล่นแร่แปรธาตุ เพิ่มมูลค่าทองคำเป็นสีขาวไม่ผสมนิเกิล สวย แวววาว แข็ง ทน ไม่หม่นหมอง ยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องประดับ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี

ตัวอย่างผลงานจากการประดิษฐ์คิดค้น

รศ. ดร.สิริพร โรจนนันต์ เปิดเผยถึง“นวัตกรรมการเพิ่มมูลค่าทอง”  งานวิจัยการพัฒนาโลหะผสมทองเพื่อเปลี่ยนสีจากเหลืองเป็นสีขาว เป็นการค้นพบสิ่งใหม่ ทั้งส่วนผสมและกระบวนการผลิตใหม่ สร้างสรรค์โลหะผสมสีขาว แก้โจทย์ที่ผู้บริโภคและผู้ผลิตต้องการได้ครบถ้วน  ผลผลิตที่ได้เป็นทองมีเนื้อโลหะสีขาวเกรด Premium White สวย เงา แวววาว ไม่มีนิกเกิลเจือปน เป็นทางเลือกใหม่ของสินค้าเครื่องประดับราคาสูง ไม่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวของผู้สวมใส่  แข็งมากกว่าเดิม ทนการบิดเบี้ยวเสียรูป ทนการเสียดสีและการขีดข่วนได้ดี ทนความหมอง ลดการนำเข้ามาสเตอร์อัลลอยส์สำเร็จรูปจากต่างประเทศ  ผลคือ ได้โลหะผสมทองขาวชนิดใหม่ที่ปราศจากนิกเกิล ซึ่งเป็นปัญหาหลักในการส่งออกเครื่องประดับโลหะผสมทองขาวไปยังต่างประเทศ ลดต้นทุนการผลิต ทำให้ราคาขายสูงขึ้น เป็นการเพิ่มมูลค่าทองโดยไม่จำเป็นต้องชุบผิวด้วยโรเดียม ลดขั้นตอนการผลิตและลดต้นทุนจากค่าชุบโรเดียมลงได้อีก

งานวิจัยนี้ ตอบสนองความต้องการของผู้ผลิตและลูกค้าที่นิยมสินค้าเครื่องประดับทองแท้ ประเภท High End ซึ่งมีราคาขายสูงกว่าเครื่องประดับทองที่มีสีเหลือง โจทย์ของผู้ประกอบการคือการทำโลหะผสมทองมีเนื้อโลหะสีขาวเกรด Premium White ไม่มีส่วนผสมของนิกเกิล สีไม่ลอกล่อน คงทนแข็งแรง ต้องสร้างสรรค์กระบวนการผลิตใหม่ ทั้งส่วนผสมและกระบวนการผลิต ศึกษาการใช้ส่วนผสมเพื่อปรับสมบัติด้านสี ความแข็ง ความคงทน และต้านความหมองได้ดี ปรับกระบวนการผลิต เพื่อให้ได้สมบัติตามต้องการ กระบวนการวิจัยต้องใช้ทุนวิจัยค่อนข้างมาก ได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการ  

ทีมวิจัย

“ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนจากการเพิ่มมูลค่าทอง คือทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ในประเทศ สร้างความเข้มแข็งให้กับเทคโนโลยีที่มี เพิ่มศักยภาพการวิจัยและพัฒนาไปสู่ระดับสากล ยกระดับความสามารถการแข่งขัน สนับสนุนการพึ่งพาตนเองได้ภายในประเทศ ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องประดับแท้ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญ นำรายได้เข้าประเทศสูงลำดับต้นๆ” รศ. ดร.สิริพรกล่าว

ทองบริสุทธิ์

ระหว่างหลอม

 

ระหว่างหล่อ

“นวัตกรรมการเพิ่มมูลค่าทอง” เป็นผลงานวิจัยโดย รศ. ดร.สิริพร โรจนนันต์, รศ. ดร.สุรศิษฐ์ โรจนนันต์ และนางสาวศิรินทรา จิตชุ่ม คณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกันพัฒนาโลหะผสมทองขาวขึ้นใหม่ โดยส่วนผสมปราศจากนิกเกิล สวย แวววาว ทนการขูดขาวนได้ดี ไม่หมอง เพิ่มมูลค่าทองให้สูงขึ้น ผลงานนี้ ได้รับรางวัลระดับดีมาก สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ จากงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2567 จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เมื่อ 2 กุมภาพีนธ์ 2567 ที่ผ่านมา

ตัวอย่างผลงาน

อุตสาหกรรมอัญมณี และเครื่องประดับเป็นสาขาหนึ่งที่ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก ในปี 2566 ไทยมีมูลค่าส่งออกมากถึง 14,636.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดัน 3 หรือ 5.14% ของมูลค่าสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย (ที่มา: ศูนย์เครื่องมืออัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ)   สิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือตัวเรือน เครื่องประดับ ปัจจุบันแพลทินัม (Platinum) ชนิดโลหะเนื้อสีขาวได้รับความนิยม ราคาแพงกว่าทองคำ (Gold) ประมาณ 2-3 เท่า ทำให้โลหะผสมทองขาว (White Gold Alloys) หรือโลหะผสมระหว่างทองคำ กับธาตุอื่น ๆ เช่น เงิน ทองแดง สังกะสี และนิกเกิล และอื่น ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะให้เนื้อโลหะสีขาวคล้ายแพลทินัมในราคาที่ถูกกว่า

งานหล่อ

 

แต่นิกเกิลที่ผสมอยู่ในโลหะผสมทองขาว อาจทำให้เกิดอาการแพ้ เป็นผื่นแดง สหภาพยุโรปจึงมีกฎหมาย จำกัดปริมาณนิกเกิลในเครื่องประดับนำเข้า โดยนิกเกิลที่ปล่อยจากเครื่องประดับ หรืออุปกรณ์ที่สัมผัสผิวหนังต้องไม่เกิน 0.5 ไมโครกรัมต่อตารางเซนติเมตรของผิวที่สัมผัสต่อสัปดาห์ ทำให้เกิดความต้องการโลหะผสมทองขาวที่ไม่มีส่วนผสมของนิกเกิล เพิ่มมากขึ้น แต่โลหะผสมทองขาวที่ไม่ใส่นิกเกิลมักจะมีสีของเนื้อโลหะสีขาวออกเหลืองอ่อน ไม่ขาวเหมือนแพลทินัม ไม่สวยงาม ต้องชุบโรเดียม จึงได้สีขาวตามต้องการ แต่ใช้งานไประยะหนึ่งผิวโรเดียมจะสึก ลอก หลุด ล่อน  กลับเป็นสีขาวอมเหลืองของโลหะชั้นในทำให้เครื่องประดับดูด้อยมูลค่าลง

เตาหลอม

นวัตกรรมการเพิ่มมูลค่าทองได้ผ่านการทดสอบจริง ใช้งานได้จริง มีความพร้อมของเทคโนโลยีสู่อุตสาหกรรมในระดับ TRL: 8-9 เป็นผลงานที่พร้อมส่งมอบ ผ่านการพิสูจน์เรียบร้อยแล้ว เผยแพร่องค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการแล้ว หากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องประดับทองหรืออุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่สนใจ ติดต่อได้ที่ สำนักงานวิจัย นวัตกรรมและพันธมิตร (สวนพ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลพระจอมเกล้าธนบุรี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง