ที่คีบบอกความสุกเพื่อความสุขในการกินของคนตาบอด

วันพฤหัส ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2567

การดู : 174

ที่คีบบอกความสุกเพื่อความสุขในการกินของคนตาบอด

แชร์ :

3 นักเรียนมัธยมดรุณสิกขาลัย ประดิษฐ์เครื่องวัดอุณหภูมิเนื้อสัตว์สำหรับคนพิการทางสายตา ให้กินหมูกระทะแบบสุกๆได้ด้วยตนเอง

ข่าวจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) แจ้งว่านักเรียนมัธยมจากโรงเรียนดรุณสิกขาลัย 3 คน ประกอบด้วยนายกานต์รวีย์ แดงเพ็ง น.ส.ปณาลี รติพัชรพงศ์ และน.ส.มิ่งขวัญ หล่อตระกูล ได้ร่วมกันประดิษฐ์ เครื่องวัดอุณหภูมิเนื้อสัตว์สำหรับคนพิการทางสายตา เพื่อให้คนตาบอดได้ทำตามฝันที่ตั้งไว้

ทา

ผศ.ดร.ธิติมา วงษ์ชีรี
จุฑารัตน์ สุ่นประเสริฐ

ทั้ง3 ระบุว่า โจทย์ที่ทำให้คิดสิ่งประดิษฐ์คือ ได้ทราบความฝันของผู้พิการทางสายตา อยากกินหมูกระทะด้วยตัวเองสักครั้ง การพูดคุย เก็บข้อมูลจากคนพิการทางสายตากลุ่มตัวอย่าง 24 คน พบว่านอกจากปัญหาการเดินทางไปยังสถานที่ไม่คุ้นเคย การเลือกซื้อสิ่งของในร้านสะดวกซื้อ การทำอาหารกินเองหรือกินในร้านปิ้งย่าง เป็นสิ่งที่คนตาบอดอย่างเขาทำไม่ได้ ทั้งที่เป็นเรื่องปกติของคนทั่วไป เพราะไม่รู้ว่าอาหารหรือเนื้อที่ปิ้งอยู่สุกหรือไม่ หลายครั้งต้องกินของไม่สุกหรือไหม้ ต้องมีคนคอยช่วยตลอด

 

กานต์รวีย์ แดงเพ็ง

 

 

ทีมนักประดิษฐ์มัธยมระบุว่า สิ่งประดิษฐ์ที่จะแก้ปัญหานี้ กำหนดว่าต้องทำขึ้นเพื่อช่วยให้คนพิการทางสายตาประกอบอาหารและรับประทานได้อย่างอิสระพกพาง่าย ใช้สะดวก ทำความสะอาดไม่ยาก สามารถแจ้งเตือนให้รู้ว่าอาหารชิ้นนั้นสุก ทีมงานนำแนวคิดปรึกษากับอาจารย์จุฑารัตน์ สุ่นประเสริฐ ครูที่ปรึกษาในโรงเรียน และ ผศ.ดร.ธิติมา วงษ์ชีรี ที่ปรึกษาจากศูนย์วิจัยและบริการเพื่อชุมชนและสังคม สำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มจธ.

นายกานต์รวีย์ ระบุว่า สิ่งประดิษฐ์จากแนวคิดดังกล่าว คือการติดเทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิอาหารแบบเข็มไว้กับที่คีบอาหาร เขียนโปรแกรมเพิ่มเติม ให้แจ้งเตือนเมื่ออุณหภูมิของเนื้อชิ้นนั้นถึงระดับที่ตั้งไว้  

“เพียงกดปลายที่คีบลงบนเนื้อชิ้น อุณหภูมิในเนื้อสัตว์ที่เซนเซอร์วัดได้ซึ่งเชื่อมต่อโปรแกรม จะส่งสัญญาณให้ผู้ใช้รู้หากเนื้อสุก การแจ้งเตือนมีทั้งแบบเสียง และแบบสั่น เพื่อสะดวกใช้งานทั้งในบ้านและนอกสถานที่ โดยทดลองกับอาหารประเภทย่างและผัด ใช้วัตถุดิบเป็นเนื้อไก่ เนื้อหมู หนา 2, 6 และ 10 มม.เนื้อสัตว์ 1 ชิ้น วัดอุณหภูมิ 2 จุด ทดลองซ้ำขนาดละ 3 ชิ้น เก็บค่าทุก 15 วินาที ผลการทดลองนำไปเขียนโค้ดให้อุปกรณ์แจ้งเตือน เมื่ออุณหภูมิเนื้อสัตว์ถึง 85-90 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เนื้อสัตว์ที่ย่างหรือผัดสุกทั่วทั้งชิ้น” นางสาวมิ่งขวัญ กล่าว

ปณาลี รติพัชรพงศ์

 

น.ส.ปณาลี  กล่าวว่า  จากการให้คนพิการทางสายตาทดลองใช้ ได้รับความพึงพอใจมาก มีข้อเสนอแนะสำหรับการพัฒนาอุปกรณ์ในอนาคตว่า ควรปรับด้ามจับเป็นสีเข้มเพื่อคนสายตาเลือนรางสังเกตได้ ปรับขนาดให้เล็กลง น้ำหนักให้เบาขึ้น บอกอุณหภูมิเป็นเสียงพูด ต้นทุนในการทำอุปกรณ์ไม่เกิน 600 บาท

มิ่งขวัญ หล่อตระกูล

 

สิ่งที่น้องๆ ทั้ง 3 คนได้รับจากการทำงานครั้งนี้ คือการเปิดประสบการณ์และสร้างทักษะในหลายๆ ด้าน ทั้งการทำงานเป็นทีม การทำงานจากโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย การออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า 

ผศ.ดร.ธิติมา อาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวว่า แม้สิ่งประดิษฐ์นี้ยังไม่ได้ผลิตจริงออกสู่ตลาด แต่ข้อค้นพบและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น อาจต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิดที่สนับสนุนการใช้ชีวิตของคนตาบอดในประเทศในอนาคต “ปัจจุบันอุปกรณ์ที่ช่วยเหลือคนพิการในประเทศมีน้อยมาก ต้องนำเข้ามีราคาค่อนข้างสูง คนพิการทางสายตาอาจเข้าไม่ถึง การเริ่มต้นคิดค้นอุปกรณ์สนับสนุนการใช้ชีวิตของคนพิการด้วยคนไทยเอง ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มี ผลิตขึ้นในประเทศ จะเป็นการช่วยเพิ่มตัวช่วยในการใช้ชีวิตให้คนพิการ ทั้งยังเป็นการพัฒนาศักยภาพของคนรุ่นใหม่ของไทยไปพร้อมกัน

ข่าวอัพเดท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง