ดันเอสเอ็มอีสตาร์ทอัพไทยใช้ ววน.ยกธุรกิจ
วันพุธ ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2567
การดู : 93
แชร์ :
สกสว.,สศช.,สศอ. และส.อ.ท. เปิดเวทีเสวนายกระดับความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ครั้งที่ 6 เพื่อใช้วางแผน ออกแบบจัดสรรงบประมาณวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ขับเคลื่อนการพัฒนาธุรกิจฐานนวัตกรรม (IDEs)
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดเวทีเสวนา การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ครั้งที่ 6 : Next’s step for Innovation Driven Enterprises (IDEs) in Thailand เพื่อใช้วางแผนและออกแบบการจัดสรรงบประมาณวิจัยและพัฒนานวัตกรรม สำหรับขับเคลื่อนประเด็นด้านการพัฒนาธุรกิจฐานนวัตกรรม (IDEs) ของประเทศ มีตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมระดมความเห็น
ดร.สราวุธ สัตยากวี รักษาการผอ.สำนักพัฒนากองทุนและการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ สกสว. กล่าวว่า ทั้ง 4 หน่วยงานเห็นตรงกันว่า การวิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกที่จะขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของไทยไปสู่ระบบเศรษฐกิจบนฐานนวัตกรรม สร้างมูลค่า ยกระดับความสามารถการแข่งขันสู่สากล การเสวนาครั้งนี้เน้นประเด็นเกี่ยวข้องกับธุรกิจฐานนวัตกรรม (IDEs) รวมถึง SMEs และสตาร์ทอัพที่จะพัฒนาศักยภาพและต่อยอด เพื่อก้าวสู่การเป็น IDEs ของประเทศอย่างเข้มแข็ง
คุณมนันยา ชุณหวุฒิยานนท์ ผอ.ฝ่ายระบบนิเวศส่งเสริมศักยภาพนวัตกรรมของผู้ประกอบการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) อธิบายว่าความรู้และความสามารถของหลายบริษัทในไทย ยังไม่เพียงพอต่อการสร้างนวัตกรรมที่จะช่วยให้บริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด จึงจำเป็นต้องนำความรู้และเทคโนโลยีจากภายนอกมาสร้างนวัตกรรม องมีที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและเอกชนให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันไทยมีมาตรการในการส่งเสริมการจ้างงานบุคลากรผู้มีทักษะสูงด้าน STEM และการพัฒนาบุคลากร ให้ลดหย่อนภาษีเงินได้ เป็นการกระตุ้นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรอีกด้วย
ดร.อธิป อัศวานันท์ ผอ.สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) กล่าวว่า หลายหน่วยงานยังเข้าใจถึงบริบทของ SMEs และสตาร์ทอัพ คลาดเคลื่อนอยู่มาก แม้จะเป็นธุรกิจขนาดเล็กเหมือนกัน แต่เป้าหมายแตกต่างกันสิ้นเชิง เนื่องจากสตาร์ทอัพ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่า ภาครัฐจึงควรช่วยแบ่งความเสี่ยงการลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพ เช่น การร่วมลงทุน หรือ Co-Investment ซึ่งต้องการการสนับสนุนอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเพิ่มเงินให้เพียงพอต่อการพัฒนาธุรกิจ เร่งพัฒนาบุคลากรทั้งทางด้าน STEM ดิจิทัล และภาษาอังกฤษ
ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล รอง ผอ.หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวถึง ประเด็นท้าทาย คือ 1. ทำให้ IDEs มองภาพธุรกิจได้ชัดเจนและระยะยาว 2. สร้างทิศทาง แนวทาง ที่มีกลยุทธ์ สร้างผลกระทบได้ 3. ประสิทธิภาพของการบริหารทรัพยากร 4. ความสำเร็จคุ้มค่าทางการเงิน ที่ต้องมี Impact กลับมา มีรายได้เพิ่มขึ้นที่แสดงถึงเป้าหมาย และ 5. องค์กรยั่งยืน ส่วน ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส รอง ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) กล่าวถึงประเด็นที่ท้าทายว่า 1. ผู้ประกอบการไม่เข้าใจว่านวัตกรรมคืออะไร 2. การขาด Mindset ในการทำธุรกิจนวัตกรรม หรือ Business Model 3. การจัดการทรัพย์สินทางปัญญา หลังจากได้สร้างนวัตกรรมขึ้นมา เพื่อช่วยในการปกป้องสิทธิ์ในผลงานด้าน ววน. 4. การจัดองค์กร หรือทีม เป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจนวัตกรรม และ 5. ความไม่เข้าใจกลไกการสนับสนุนจากภาครัฐ
ทางตัวแทนภาคเอกชนได้ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นโอกาสในการก้าวเป็น IDEs ของไทย โดยนายไชยยศ รุ่งเจริญชัย กก.ผจก. บริษัท เพอร์มา คอร์ปอเรชั่น จำกัด ระบุว่า การออกไปแข่งกับต่างประเทศมีความท้าทาย อยากได้หน่วยงานช่วยเป็นที่ปรึกษา ให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง 3-5 ปี โดยเฉพาะงบประมาณการลงทุนในธุรกิจ เพื่อความต่อเนื่องในการทำงาน อยากให้มีคนกลางช่วยวิเคราะห์ปัญหาและร่วมพูดคุยถึงแนวทางการพัฒนาต่อยอดว่าเป็นไปในมิติใดได้บ้าง เพื่อช่วยให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปได้เร็วขึ้น นายเสริมศักดิ์ วงศ์ชัย กก.ผจก.บริษัท กลัฟเท็กซ์ จำกัด กล่าวว่า ในปี ค.ศ. 2028 บริษัทมีตั้งเป้าหมาย 1. ขยายตลาดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 50% 2. ขยายตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น 30% 3. ใช้กลยุทธ์ Innovation & Standard เป็นกลยุทธ์หลักเพื่อผลักดันสินค้าที่ผลิตในประเทศให้แข่งขันในตลาดต่างประเทศ 4. ใช้สินค้า Green เป็นกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในอนาคต
การเสวนาชี้ให้เห็นว่า การยกระดับ SMEs และสตาร์ทอัพไทยสู่ธุรกิจฐานนวัตกรรมให้ยั่งยืนด้วย ววน. นั้น ต้องอาศัยปัจจัยหลายด้าน ทั้งการยกระดับการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการ การสร้างระบบรับรองมาตรฐานให้กับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศ ตลอดจนภาครัฐควรช่วยเหลือ หรือเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ประกอบการในด้านต่าง ๆ อย่างครบถ้วน เพื่อผลักดันผลิตภัณฑ์ของไทยให้สามารถขายได้ในตลาดโลก อันนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
ข่าวอัพเดท