คิดใหม่ใช้MLบูรณาการจริงจังลดอุบัติเหตุทางถนน

วันอังคาร ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2567

การดู : 513

คิดใหม่ใช้MLบูรณาการจริงจังลดอุบัติเหตุทางถนน

แชร์ :

หมอนักวิจัยเปิดแนวคิดใหม่ลดอุบัติเหตุทางถนน ระดมทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ใช้ Machine Learning (ML) รายงานตัวเลขเรียลไทม์กระตุ้นให้แก้ไขแบบไม่ชักช้า เอาสถิติเจ็บตายมาอ้าง แต่ตรวจสอบลึกถึงวัย โรคประจำตัว ที่เกิดเหตุบ่อยให้ท้องที่ลงกวดขันป้องกัน

   สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดการประชุมเมื่อเร็วๆนี้ ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนต์ สไตลิช คอนเวนชั่น  จ.นนทบุรี เผยแพร่โครงการการวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตให้สอดคล้องกับเป้าหมายแผนแม่บทฉบับที่ 5 มี นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ จากสมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทยเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย  

นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ

   นพ.ชาญวิทย์ กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 8 ร่วมกับสมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยเรื่องการวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตให้สอดคล้องกับเป้าหมายแผนแม่บทฉบับที่ 5 ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยการบูรณาการทุกภาคส่วน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 – มิถุนายน 2567 เพื่อลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิต ที่ใช้ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อนนโยบาย / มาตรการ ที่สอดคล้องกับบริบททั้ง 7 จังหวัด ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 8 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบไปด้วย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย นครพนม เลย บึงกาฬ และสกลนคร การวิจัยครั้งนี้ เป็นการบูรณาการข้อมูลจากระบบสารสนเทศ พัฒนาข้อมูลส่วนขาดนำไปใช้กำหนดยุทธศาสตร์ นโยบาย มาตรการการดำเนินการ ติดตาม กำกับ โดยพัฒนารูปแบบจำแนกความเสี่ยง ทั้งคน สิ่งแวดล้อม ถนน ยานพาหนะ ระบบส่งต่อทรัพยากรสุขภาพ ในการจัดกลุ่มเป้าหมายและลำดับความสำคัญ เพื่อลดความเสี่ยงแต่ละพื้นที่ ตลอดจนการพัฒนา ชุมชน โครงสร้างกฎหมาย ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ระบบบริการสาธารณสุข โดยใช้กลไกการจัดการในระดับเขตและระดับพื้นที่ให้เกิดความปลอดภัย ด้วยการบูรณาการแบบมีส่วนร่วม

   นพ.ชาญวิทย์ ระบุว่า การบูรณาการ ไม่ใช่เพียงแค่การประชุมร่วมกัน แต่เชิญทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนมาพิจารณาแก้ปัญหาด้วยกัน โดยงานวิจัยจะสนับสนุนให้ทุกหน่วยบรรลุเป้าหมายเดียวกัน เช่นกระทรวงสาธารณสุข มีเป้าหมายลดการเสียชีวิต กระทรวงคมนาคม เป้าหมายลดการเกิดอุบัติเหตุ กระทรวงมหาดไทย มีศูนย์ปฏิบัติการลดอุบัติภัยทางถนนตั้งแต่ระดับจังหวัดจนถึงอำเภอ โดยสร้างกลไกให้เกิดการบูรณาการ มีเครื่องมือให้เกิดการใช้ร่วมกัน เห็นภาพเดียวกัน นำข้อมูลเวชระเบียนอิเลกทรอนิกส์จากโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้ง 931 แห่ง แบบ Realtime ร่วมกับข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน พัฒนานวัตกรรม Train Risk Predictive Machine Learning Model หรือการใช้ แมชชีนเลิร์นนิ่ง (Machine Learning=ML) ระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองจากข้อมูลจำนวนมาก จำแนกความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุของประชาชนทั้งเขต พร้อมมี Dashboard หรือหน้าจอสรุปข้อมูลทุกอย่างในหน้าจอเดียว แสดงอุบัติเหตุและความเสี่ยงต่าง ๆ แต่ละพื้นที่ แบบ Realtime ช่วยในการสอบสวนอุบัติเหตุแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ และการจัดการอุบัติเหตุระดับเขต จังหวัด จนถึงรายพื้นที่ ให้ใช้ข้อมูล ในการกำหนดยุทธศาสตร์ นโยบาย ดำเนินการได้สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

          การดำเนินการดังกล่าวเริ่มตั้งแต่เดือน มีนาคม 2566 ช่วงแรก ได้ประชุมหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 7 แห่ง เพื่อกำหนดเป้าหมายร่วมกันในการลดอุบัติเหตุและกำชับหน่วยปฏิบัติให้ติดตามข้อมูลที่รายงานบนDashboard และหาทางแก้ไขร่วมกัน โดย นพ.ชาญวิทย์ ยกตัวอย่าง การแก้ปัญหารายจุด หน้าโรงพยาบาลอำเภอแห่งหนึ่ง รถที่ออกจากโรงพยาบาลเลี้ยวขวา ถูกรถทางตรงเฉี่ยวชน พบว่าไม่มีป้ายเตือน ก็เสนอปรับปรุงมีระบบสัญญาณไฟ หรือมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง นักศึกษาขี่จักรยานยนต์ออกทางด้านหน้า เลี้ยวขวา เห็นรถที่ตรงมาจะเลี้ยวซ้ายเข้าประตู แต่ไม่เห็นรถที่ตามหลังมา จึงเคลื่อนออกไป มีโอกาสโดนรถทางตรงที่วิ่งผ่านประตูชนเอาได้  ก็แก้ไข โดยทำช่องเว้าบริเวณทางเข้าให้มีมุมมองบริเวณประตูกว้างขึ้น

          ข้อมูลยังเชื่อมโยงกับประวัติการเจ็บป่วยของผู้ประสบอุบัติเหตุ ML อาจประมวลผลถึงประเภทกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ เช่น ผู้สูงอายุ มีโรคเบาหวาน บางจังหวัดมีจำนวนครั้งเกิดเหตุบ่อย หรือวัยรุ่น ขับรถเร็ว ข้อมูลนี้ ทำให้แต่ละพื้นที่นำไปกวดขันกับรายกลุ่มเสี่ยง ทั้งนี้ มีการจำแนกรายกลุ่มไว้ถึง 51 กลุ่ม และเท่าที่นำนวัตกรรมการบูรณาการลดอุบัติเหตุใช้ในพื้นที่ 7 จังหวัด ตัวเลขการเสียชีวิตลดลง 50 ราย

ข้อมูลอุบัติเหตุเฉลี่ย7ปี

  ส่วนการใช้สถิติจำนวนการอุบัติเหตุเป็นเกณฑ์การเฝ้าระวังที่ทำกันโดยทั่วไปนั้น นพ.ชาญวิทย์ระบุว่า หากบริบทต่างๆเปลี่ยนไป ข้อมูลที่มีอาจนำใช้ประโยชน์ไม่ได้ เช่น อุบัติเหตุปี 2566 สูงกว่าปี 2565 เพราะระบบเศรษฐกิจเปิดมากขึ้นหลังสถานการณ์โควิด19 ประกอบกับการจำหน่ายจักรยานยนต์มีมากขึ้น จำนวนไรเดอร์เพิ่มเพราะบริการส่งสินค้าได้รับความนิยม

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง

   ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. เล็งเห็นความสำคัญของการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน จึงสนับสนุนทุนวิจัยให้กับแผนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านความปลอดภัยทางถนน ที่ นพ.ชาญวิทย์ เป็นหัวหน้าโครงการ จุดมุ่งหมายคือ ต้องเกิดการขับเคลื่อนผลงานวิจัยไปสู่การปฏิบัติจริง เกิดผลผลิตจากการดำเนินงานที่ต้องมีความสอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนนของประเทศ ลดอัตราการเสียชีวิต สร้างความปลอดภัย พัฒนาเครือข่าย การมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ในการนำนวัตกรรมทางด้านความปลอดภัยทางถนนไปบูรณาการเพื่อลดการสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากปัญหาอุบัติเหตุ วช. มุ่งหวังให้ประเทศไทย สามารถป้องกัน ลดอุบัติเหตุ ลดการบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ลดลงมากที่สุด โดยมีเป้าหมายในการลดการเสียชีวิตและการบาดเจ็บบนท้องถนนให้ลดลงได้มากที่สุดต่อไป

          จากรายงานอุบัติเหตุทางถนนของกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ค่าเฉลี่ย 7 ปีของอุบัติเหตุทางถนน ระหว่างปี 2559-2565  มี 76,861 ราย จำนวนการเสียชีวิต ค่าเฉลี่ย 7 ปี 7,728 ราย บาดเจ็บเฉลี่ย 5,025 ราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง