มุมมองนักกฎหมาย..รายงานอย่างไรประเด็นคลุมเคลือ ตร.-บ่อน
วันอังคาร ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2567
การดู : 133
แชร์ :
มุมมองนักกฎหมาย..
รายงานข่าวอย่างไร..ต่อประเด็นคลุมเคลือ ตร.-บ่อน
กรณีความขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขยายผลจากคดีเว็บพนันออนไลน์ มาสู่การออกหมายจับจำนวนหนึ่งและออกหมายเรียก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. และเกิดการโต้เพียงระหว่างกันกับ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) ซึ่งรับผิดชอบคดีเกี่ยวกับอำนาจการสอบสวน ที่มีทีมทนายความระบุว่าคดีอยู่ในอำนาจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแหงชาติ (ป.ป.ช.) เกิดเป็นความสับสนว่า คดีอาญาของข้าราชการระดับสูงเป็นอำนาจการสอบสวนของตำรวจหรือ ป.ป.ช. การรายงานข่าวประเด็นนี้ จึงเกิดความคลุมเคลือ
ประเด็นด้านกฎหมายนี้ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความฯ กล่าวว่า ต้องยึดรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติ มาตรา 234 (2) ระบุถึงอำนาจหน้าที่ ป.ป.ช. ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่ำรวยผิดปกติ กระทําความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม เพื่อดําเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ขณะเดียวกันกฎหมายลูก หรือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 61 ที่ได้บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ หรือมีผู้กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ให้ดําเนินคดีกับเจ้าพนักงานของรัฐ หรือบุคคลอื่นใดในข้อหาใด ๆ บรรดาที่อยู่ในหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้พนักงานสอบสวนแสวงหาข้อเท็จจริง รวมทั้งรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้น แล้วส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับการร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษ
ทั้งนี้ ป.ป.ช.มีระเบียบรองรับ กระบวนการไต่สวนบุคคลที่มีตำแหน่งระดับใดจึงจะอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. เช่น นักการเมืองระดับชาติ ระดับท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่รัฐ หากทำผิดกฎหมายอาญาจะอยู่ในข่ายอำนาจของ ป.ป.ช. โดยแบ่งระดับไว้ตั้งแต่ตำแหน่งผู้อำนวยการระดับสูง หรือ ซี 8 ขึ้นไป ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวน ชี้มูล ว่าบุคคลที่ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษ มีความผิดหรือไม่อย่างไร
ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้อง คือกรณีกระทำผิดกฎหมายร้ายแรง ผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ตามประมวลอาญา มาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เรียกรับ ยอมจะรับทรัพย์สิน ป.ป.ช.ก็มีอำนาจไต่สวน สอบสวนเช่นกัน
ดร.วิเชียร ย้ำว่า ถึงแม้จะมีกรณีที่มีคนไปร้องทุกข์คดีลักษณะนี้ต่อตำรวจ พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนเบื้องต้น แต่ภายใน 30 วันต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.พิจารณาว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ต้องรับเรื่องไว้ไต่สวนหรือไม่
ในมุมอำนาจหน้าที่ของตำรวจ แม้พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา ถึงขั้นส่งฟ้องศาลได้ แต่เมื่อมีกฎหมายพิเศษ เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างกรณีนี้ ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เปรียบเทียบก็เหมือนกับเขตอำนาจศาล ว่าจะต้องฟ้องที่ศาลใด ศาลอาญาทั่วไป หรือศาลอาญาทุจริต ซึ่งขึ้นอยู่กับพฤติการณ์นั้นๆ
สำหรับระเบียบ ป.ป.ช.ว่าด้วยการตรวจสอบและไต่สวน พ.ศ.2561 ข้อ 8 (2) ระบุว่า สามารถมอบหมายพนักงานสอบสวน ในกรณีที่เห็นว่าผู้ถูกร้องเป็นบุคคลซึ่งอยู่ในหน้าที่ และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 28 (2) และ (4) ที่มิใช่ความผิดร้ายแรง ตามมาตรา 61 และมาตรา 63 นายกสภาทนายความ ระบุว่า ตามระเบียบนี้ ถ้าเรื่องเข้าสู่ ป.ป.ช.จะไต่สวนเอง หรือมอบพนักงานสอบสวนไปดำเนินการแทนก็ได้
กรณีความสับสนในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเกี่ยวกับคดีนี้ นายกสภาทนายความฯ ระบุว่า คงโทษสื่อไม่ได้ เพราะสื่อเองก็รับข้อมูล 2 ด้าน ก็ต้องมีข้อยุติว่าใครมีอำนาจสอบสวนกรณีดังกล่าวได้ ซึ่งบทสรุปที่เป็นข้อยุติตอนนี้ ป.ป.ช.ก็มีมติรับเรื่องไว้ไต่สวนแล้ว ซึ่งก็มีรายละเอียดอีกว่า กรณีคนที่ถูกร้องทุกข์ หรือถูกกล่าวหา ต้องเป็นระดับตั้งแต่ผู้อำนวยการกอง หรือซี 8 ขึ้นไป (รอง ผบ.ตร.เทียบเท่าระดับ 10) และหากมีผู้ถูกกล่าวหา ในข้อหาเดียวกันหลายคน ซึ่งเป็นข้าราชการระดับต่ำกว่าซี 8 ถ้าพฤติการณ์แห่งคดี เป็นการร่วมกัน ช่วยเหลือกัน หรือสนับสนุนให้มีการกระทำความผิด ทุกคนจะต้องถูกพ่วงเข้าไปด้วย คือไปทั้งยวง
นายกสภาทนายความฯ มีข้อแนะนำสำหรับสื่อมวลชนซึ่งมีหน้าที่รายงานข่าวลักษณะนี้ว่า ก่อนรายงานหากค้นหาข้อมูลด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รอบด้าน จะช่วยให้รายงานได้ถูกต้อง เพราะกรณีเกิดขึ้นแต่ละฝ่ายต่างให้ข้อมูลของตัวเอง แต่ถ้าสื่อเอาหลักกฎหมายเข้ามาจับ จะทำให้การนำเสนอข่าวเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากขึ้น
เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ก็ต้องมีข้อสังเกตด้วยว่า ในการเสนอข้อมูลของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หากได้รับข้อมูลจากแหล่งหนึ่งแหล่งใด ไม่ว่าสื่อหรือไม่ ก็ต้องคำนึงว่า ในเรื่องนี้มีหลายมิติ เมื่อฟังแล้วอย่าเพิ่งเชื่อ เพราะแหล่งข่าวให้ข้อมูลฝั่งตัวเอง หรือสื่อแต่ละสำนักที่ไปสัมภาษณ์ความเห็นแต่ละฝ่าย ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกัน และมีความเห็นแตกต่าง
ดังนั้นในฐานะประชาชน จึงอย่าเพิ่งเชื่อ ว่าใครถูกใครผิด แต่ควรศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อน ค้นหาข้อมูลจาก ป.ป.ช. หรือตำรวจ หรือออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว และหากยังไม่สะเด็ดน้ำ สภาทนายความฯ ก็มีทนายอาสาที่มีข้อแนะนำกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนด้วย
มุมมองนักวิชาการ
รศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ ระบุว่า ในฐานะผู้ติดตามข่าว ส่วนหนึ่งเมื่อรู้ว่ามีเรื่องเกิดขึ้นระหว่างตำรวจกับตำรวจจึงอยากให้เรื่องนี้สะท้อนว่า ในท้ายที่สุดหลายๆ เรื่อง หลายๆ เหตุการณ์ ที่ต่อเนื่องยาวนาน เมื่อติดตามไปถึงตอนจบ ก็จะพบว่าไม่แตกต่างจากที่เราคิด เรื่องแบบนี้เหมือนมีแพตเทิร์นที่คล้ายกัน
เรื่องราวเกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ข้อมูลยังมีความคลุมเครือ กรณีศึกษาเรื่องนี้ควรต้องรายงานข่าวอย่างไร รศ.สุรสิทธิ์ ระบุว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องยาว ที่เริ่มต้นจากคดีมินนี่ (เว็บพนันออนไลน์) ซึ่งคดีก็เงียบไป และมีดราม่าเกิดขึ้นเป็นระยะ ลักษณะเหมือนปิดกระแสบางเรื่องแต่ไม่เกิดประโยชน์กับผู้รับสาร ซึ่งคนก็เริ่มรู้สึกเสียเวลาในการรับข่าวสาร ที่คาดหมายปลายทางได้ว่า จะเป็นอย่างไร หลายๆ เรื่องก็มีฟอร์แมตแบบนี้
เมื่อถามถึงกรณีที่ประเด็นข่าวคลุมเครือ สื่อควรจะรายงานอย่างไร รศ.สุรสิทธิ์ ระบุว่า หลักการในด้านงานข่าว ที่ต้องรายงานอย่างตรงไปตรงมา แต่รูปแบบการรายงาน ก็ไม่ได้มีแบบเดียว แต่มีรูปแบบการรายงานแบบวิเคราะห์ หรือแบบตีความ หรือเชิงสืบสวนสอบสวน ซึ่งปัจจุบันมาถึงขั้นที่ว่า Information data journalism ลักษณะเป็นการนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงในรูปแบบที่เป็นอินโฟกราฟิก ฯ ฉะนั้นมีหลายรูปแบบที่นำเสนอได้ อย่างไรก็ตาม ความคิดความเห็นก็ยังมีบทบาทความสำคัญ ยังมีความจำเป็น เพราะอย่างน้อยที่สุด มันได้ฟังเสียงว่า คนที่เกี่ยวข้อง หรืออยู่ในไลน์ของข่าวนั้น เขามีความคิดเห็นอย่างไร
รศ.สุรสิทธิ์ เน้นย้ำว่า สิ่งที่สื่อต้องเติมเต็มคือการมีแง่มุมของข้อเท็จจริงที่ต้องใส่เข้าไป ตรงนี้ทีมข่าวจะต้องค้นหามาเพิ่มเติม เพราะไม่ได้อยู่ในคำพูด คำให้สัมภาษณ์ของแหล่งข่าว ฉะนั้นจึงต้องมีหลังบ้าน หรือทีมงานที่คอยสนับสนุนเรื่องนี้ ซึ่งมีทางออกอีกแบบหนึ่ง
รูปแบบที่ดีคือ แหล่งข่าวจะต้องเป็นคนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ และไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในข่าวเสมอไป ต้องเป็นคนที่มีองค์ความรู้จริงๆ ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องที่กำลังเป็นประเด็น แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่ฟังคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เราต้องฟังด้วย ในมุมที่จะนำมาวิเคราะห์เรื่องนั้นๆ ซึ่งจะช่วยให้หาแง่มุมได้ชัดเจนมากขึ้น แต่ก็มีข้อควรระวังคือ ผู้เชี่ยวชาญผู้ชำนาญหลายวงการมักจะเอียงข้าง อยู่ข้างใดข้างหนึ่ง แต่เชื่อมั่นคนสื่อจริงๆ จะรู้ว่าใครอยู่ข้างไหนด้วยซ้ำ เรื่องนี้ก็ต้องระวังเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตาม มองว่าปัจจุบันนี้ คนรู้เท่าทันสื่อมากขึ้น.
#
เว็บไซต์ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้เผยแพร่บทความ จากรายการวิทยุ “รู้ทันสื่อ” กับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ออกอากาศวันเสาร์ที่ 16 มีนาคม 2567 ทาง MCOT News FM 100.5 เรื่อง “การรายงานข่าวประเด็นคลุมเครือ กรณีศึกษา ตร.-บ่อนฯ” ดำเนินรายการโดย ณรงค์ สุทธิรักษ์ และวิชัย วรธานีวงศ์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความฯ รศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา / ทาง thaipress-asso.com เห็นว่ามีความน่าสนใจ จึงขออนุญาตนำบางส่วนมาเผยแพร่ต่อ
อ่านรายงานฉบับเต็มที่ https://www.presscouncil.or.th/10339